ชาวบ้าน 2 ตำบล 4 พันกว่าครัวเรือน เดือดร้อนไม่มีน้ำดิบผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน เนื่องจากฝายห้วยสายบาตรขาดมานานนับเดือน ส่งผลให้น้ำในหนองอีเลิง ไหลทะลักออกจนเหลือเพียงก้นอ่าง กระทบกับน้ำต้นทุนที่ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
เจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ได้นำเครื่องจักร เร่งสร้างคันดินชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากหนองอีเลิง ไหลทะลักออกจากอ่าง จากการที่ฝายกั้นลำห้วยสายบาตร ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถูกน้ำกัดเซาะพังลงประมาณ 20 เมตร เกิดจากการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้เข้ามาซ่อมแซมบริเวณฝายห้วยสายบาตรที่พังเสียหาย ด้วยการทำคันดินและนำกล่องกราเบี้ยนมาวางเป็นแนวสันฝาย แต่ก็ไม่สามารถทนแรงดันน้ำได้เนื่องจากโครงสร้างเดิมเกิดการชำรุดเสียหายโดยสิ้นเชิง จึงทำให้น้ำจากหนองอีเลิงไหลทะลักเหลือเพียงก้นอ่าง ส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุนที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้าน
ขณะที่ชาวบ้านบอกว่า ขณะนี้ระบบประปาหมู่บ้านในตำบลโคกสี ที่ใช้น้ำจากหนองอีเลิง เป็นน้ำดิบผลิตประปา ไม่สามารถจ่ายน้ำให้ชาวบ้านได้ หลายพันครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ชาวบ้านแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการขุดเจาะบ่อบาดดาลเพื่อนำน้ำมาใช้แก้ไขปัญหาเป็นการชั่วคราวไปก่อน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรงบประมาณเข้ามาดำเนินการซ่อมแซม หรือก่อสร้างทดแทนฝายอันเดิมที่ชำรุดเสียหาย
นายวัฒนา ช่างเหลา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านจากปัญหาฝายลำห้วยสายบาตรพังเสียหาย จึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับสมาชิกสภา อบจ.ขอนแก่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสี กำนัน และชาวบ้าน เพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข จากจข้อมูลทราบว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลโคกสี อำเภอเมืองขอนแก่น และตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จ.มหาสารคาม กว่า 4,000 ครัวเรือน เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน เร่งทำแนวคันดินเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ไหลออกจากอ่างเป็นการชั่วคราวไปก่อน และจะนำข้อมูลไปรายงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ด้านนายพงศกรณ์ เสาร์ทน คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เข้ามาตรวจสอบเบื้องต้นไม่กระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำล้นทั้งหมดจะไหลลงสู่ลำน้ำพอง พร้อมทั้งได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ ได้แก่ รถแบคโฮ เครื่องจักร Gabion จำนวน 200 กล่อง ซ่อมแซมฝายที่ขาดได้แล้วตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 แต่เนื่องจากโครงสร้างฝายอันเดิมมีสภาพพังเสียหาย เมื่อน้ำในหนองอีเลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้จุดที่ซ่อมแซมทนแรงดันน้ำไม่ไหวถูกกัดเซาะพังเสียหายซ้ำมาอีก จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เพียงทำแนวคันดินเสริมเป็นการชั่วคราว แต่หากมีน้ำมาเติมและสูงกว่าแนวคันดินที่ทำไว้ ก็จะเกิดความเสียหายอีก ขณะนี้สำนักงานชลประทานได้เร่งสำรวจและออกแบบเพื่อของบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างฝายเพื่อทดแทนอันเดิมที่พังเสียหาย
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยสายบาตร กรมชลประทานได้ถ่ายโอนภารกิจในการดูแล บำรุงรักษา รวมไปถึงการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากอ่างฯ ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสี เมื่อปี 2549