ขอนแก่น (ชมคลิป) “บิ๊กทิน” รมว.กลาโหม ลุยพื้นที่ซ่อมฝายห้วยสายบาตรขาด ปิดน้ำล้นทะลักแก้มลิงได้แล้ว   

“สุทิน คลังแสง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามการปิดกั้นมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ ที่ไหลทะลักผ่านฝายห้วยสายบาตรที่ขาดกว้างกว่า 20 เมตร ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถปิดกั้นมวลน้ำไว้ได้แล้ว พบน้ำเหลือกักเก็บในอ่างราว 1 ล้าน ลบ.เมตร เริ่มส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุนผลิตประปา 2 ตำบล ย้ำแม้การดูแลรักษาจะเป็นของท้องถิ่น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทุกหน่วยงานต้องดูแลช่วยกัน

เมื่อเวลา 19.50 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการสร้างแนวป้องกันมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ ในพื้นที่ ต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น ที่ไหลกัดเซาะฝายห้วยสายบาตร ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 ขาดกว้างกว่า 20 เมตร ส่งผลให้น้ำจากหนองเลิงใหญ่ไหลทะลักลงสู่ห้วยสายบาตร อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น พันเอก จตุพงษ์ พลเสน ผบ.พัน.มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น นายจิรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่ 6 และ นายธนาศักดิ์ ร้อยพา นายก อบต.โคกสี ให้การต้อนรับและรายงานความคืบหน้าในการสร้างแนวป้องกันและซ่อมซ่อมฝายในระยะเร่งด่วน โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ฯ สามารถทำการป้องกันมวลน้ำจากหนองเลิงใหญ่ไม่ให้ลงสู่ห้วยสายบาตรได้แล้ว หลังจากที่ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เข้าดำเนินการ พร้อมกับนำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน  จากสำนักงานชลประทานที่ 6 เข้ามาขุดลอกและสร้างแนวทำนบดินปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลออกจากหนองเลิงใหญ่ได้สำเร็จ ก่อนจะใช่รถแบ็คโฮทยอยนำกล่องหินกินเกรเบี้ยนวางเป็นกำแพงป้องกันและอุดช่องที่ตัวฝายชำรุดเสียหาย

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากการรายงานรายงานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า ฝายห้วยสายบาตร ได้มีการก่อสร้างและใช้งานมานานเกือบ 20 ปี ทำให้เกิดการชำรุดเสียหายตามกาลเวลา ส่วนสาเหตุเนื่องจากมีฝนตกสะสมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ปริมาณน้ำไหลล้นผ่านอาคารฝ่ายน้ำล้น ซึ่งเป็นแบบฝายสันกว้าง แล้วเกิดการกัดเซาะจนพังลง กว้างประมาณ 20 เมตร ทั้งนี้สาเหตุเบื้องต้น น่าจะเกิดจากอายุการใช้งานอาคารมานานเกิดการกัดเซาะภายใต้อาคารต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้มีการวางแผนการแก้ไขซ่อมแซมเป็น 3 ระยะ

ระยะแรกซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน คือ การนำกำลังทหารและเครื่องจักรจากสำนักงานชลประทานที่ 6 เข้ามาขุดดินเป็นทำนบกั้นน้ำเอาไว้ ไม่ให้ไหลออกไปมากกว่านี้ ระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือการทำคันคูหรือฝายชั่วคราว เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้เอาไว้ได้ และระยะที่ 3เป็นแผนในช่วงผ่านพ้นฤดูฝนไปแล้ว โดยจะมีการซ่อมแซมฝายฯ ใหม่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยจะต้องอาศัยงบประมาณจากกรมชลประทาน และจะต้องมีการออกแบบตัวฝายใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพราะขณะนี้โครงสร้างของฝายฯ เปลี่ยนไปแล้ว

ในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของฝายเป็นลักษณะประตูเปิดปิดเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ต้องสูญเสียน้ำในหนองเลิงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ไปครึ่งหนึ่ง แต่ยังโชคดีที่ไม่มีพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรที่ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวฝายที่มีการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน และได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดูแลรักษา ก็ไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรคในการที่จะเข้ามาทำฝายใหม่ เพราะเมื่อเกิดเหตุที่เกินกำลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องดูแลรับผิดชอบช่วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันได้มีการตั้งคณะกรรมการที่ต้องดูแลในเรื่องปัญหาอุทกภัยของรัฐบาลขึ้นมา จึงต้องมีการบูรณาการร่วมกันทุกกระทรวง

          จากข้อมูลพบว่าขนาดความจุของหนองเลิงใหญ่ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำในอ่างประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุนผลิตประปาหมู่บ้านในตำบลโคกสี อ.เมืองขอนแก่น และ ตำบลกู่ทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

คลิป, ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.