ขอนแก่น (ชมคลิป) เพลิงไหม้ “แทรมน้อย” รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ ระบบภายในบริษัทเอกชนผู้รับจ้าง คาดสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร

เพลิงไหม้ แทรมน้อยรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ ระบบภายในบริษัทเอกชนผู้รับจ้าง คาดสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ พบความเสียหายกว่า 70% มูลค่ากว่า 84 ล้านบาท 

           1 ก.ค. 67 ที่ห้องประชุมไพศาล หลีร์ละเมียร อาคาร 50 ปี เทคนิคไทย – เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย  อาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น หรือ “แทรมน้อย” ภายในบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เหตุเกิดในเวลาประมาณ 23.30 ของวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา  พบว่า รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

             อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า รถไฟฟ้ารางเบา เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แผนพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุกด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งข้นของประเทศ ซึ่งได้โครงการออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) งบประมาณ 90 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 1 ปี (พ.ศ.2565-2566) งบประมาณ 33 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 123 ล้านบาท ซึ่งก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ตัวรถฟฟ้ารางเบาต้นแบบอยู่ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้ทำการว่าจ้าง บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ในการประกอบติดตั้งชิ้นส่วนต่าง ๆ  เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ก่อนเกิดเหตุอยู่ในช่วงของการทดสอบระบบการทำงานของตัวรถ ยังไม่ได้มีการส่งมอบให้กับคณะนักวิจัยฯ ในเบื้องต้น คาดว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ แต่ยังต้องรอผลยืนยันการตรวจพิสูจน์หลักฐานในสถานที่เกิดเหตุจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน4 เพื่อยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้อีกครั้ง คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประมาณ 1 เดือน และจากการประเมินความเสียหาย ในเบื้องต้น  พบว่า เกิดขึ้นกับตู้โดยสารภายนอกและภายใน รวมทั้งระบบขับเคลื่อน คิดเป็นความเสียหายประมาณ 70% มูลค่า 84 ล้านบาท

           ด้าน อาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา กล่าวว่า ในการจะนำชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใด ๆ ไปใช้เป็นส่วนประกอบของรถไฟฟ้ารางเบา คณะนักวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จะร่วมกันออกแบบกับฝ่ายวิศวกรรมของ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ก่อนจะทำการผลิตชิ้นส่วนจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด โดยจะผลิตชิ้นส่วนจากผู้ผลิตที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน เราจึงมั่นใจชิ้นส่วนที่ผลิตมาได้มาตรฐานตามหลักข้อกำหนดที่ออกแบบมา ซึ่งได้มีการทดลองระบบเมื่อประมาณ 2 ปี ก่อน ด้วยการทดลองเดินรถไฟฟ้ารางเบาแบบ 2 ตู้โดยสาร ภายในหมาวิทยาลัยฯ ในขบวนรถไฟฟ้ารางเบา จะมีชุดแบตเตอรี่อยู่ 2 ชุด ชุดที่ 1 สำหรับระบบควบคุม มีขนาดแรงดัน DC 24 โวลต์ ชุดที่ 2 เป็นแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อน มีขนาดแรงดันประมาณ 695 โวลต์ พิกัดกำลังประมาณ 346 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งแบตเตอรี่ในชุดที่ 2 จะจ่ายไฟออกมาในกรณีที่มีการสั่งการจากห้องควบคุมผ่านระบบทัชสกรีน แต่ในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น พบว่า เมนคีย์สวิชต์ อยู่ในตำแหน่ง off หรือ ปิด ซึ่งจะไม่มีไฟจ่ายออกมาที่ระบบ ซึ่งแบตเตอรี่ขนาดแรงดัน DC 24 โวลต์ ที่เป็นข้อสงสัยของเราว่าอาจจะเป็นสาเหตุ โดยสันนิษฐาน แบตเตอรี่ชุดนี้ที่ส่งไฟมาที่ตู้โดยสารที่ 1 ที่เป็นต้นเพลิงได้เกิดการลัดวงจรของไฟฟ้า อย่างไรก็ตามในช่วงกลางวันของวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนเองได้เข้าไปตรวจสอบดูความเรียบร้อยของตัวรถไฟฟ้าที่ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) โดยมีการเปิดแอร์ปกติภายในตู้โดยสาร โดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายภายนอกตัวรถ ผ่านทางเมนเบรคเกอร์ภายในรถ หลังจากตรวจสอบเสร็จก็มีการปิดระบบทุกอย่างตามขั้นตอน จึงมั่นใจว่า สาเหตุไฟไหม้ไม่น่าจะมาจากการลัดวงจรของชุดที่ 2 เป็นแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อน มีขนาดแรงดันประมาณ 695 โวลต์

คลิป, ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.