ร้อยเอ็ด (ชมคลิป) ประเพณีเก่าแก่ บวช “ควายจ่า” หรือ “ควายหลวง” ก่อนการจุดบั้งไฟจะเริ่ม เพื่อขอฟ้าฝน

ประเพณี วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใคร ที่อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด คือการบวชควายจ่าหรือควายหลวง ก่อนการจุดบั้งไฟจะเริ่มขึ้น

ประเพณีบวชควายจ่า หรือ ควายหลวง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานภายในชุมชนบ้านแมด บ้านเขือง บ้านหวายหลึม บ้านหมูม้น เขตอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวในประเทศที่มีประเพณีการละเล่นนี้และยังคงอนุรักษ์สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านจะมีการจัดให้มีพิธีกรรม บวชควาย ที่เรียกคนที่บวชเป็นควายว่า ควายจ่า หรือ ควายฮาด ซึ่งจะทำพิธีบวชในตอนเช้า โดยคนที่จะบวชเป็นควายจะทาใบหน้าและร่างกายเปลือยท่อนบนด้วยดินหม้อจนดำไปทั้งตัว รอบขอบตาทาด้วยสีแดงเห็นชัดเจน สวมหัวมีเขาที่ทำขึ้นเองโดยสมมติเป็นเขาควาย จำนวน 4 เขาสะพายเฉียงไหล่ด้วย “พรวนทาม”หรทอหมากกะโหล่ง ที่เป็นเครื่องสัญญาณเสียงสำหรับคล้องคอวัวควาย

ที่เอวของคนที่บวชควายมีท่อน “อวัยวะเพศชาย” ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนขนาดยาว-ใหญ่ ทาสีแดงที่ปลาย ผูกติดเอวอยู่ด้วยเชือก และมีสายเชือกผูกโยงไปข้างหลัง มีชายอีกคนหนึ่งที่สมมติเป็นเจ้าของควายจับปลายเชือกบังคับควาย เดินออกหน้าขบวนแห่ที่มีกลุ่มคนแต่งกายแปลกๆ ร่วมกันฟ้อนเซิ้งอย่างสนุกสนาน ประกอบดนตรีพื้นบ้านบรรเลงไปทั่วหมู่บ้าน และชาวบ้านจะพากันดึงเอาเส้นที่สมมุติว่าเป็นหนวดอวัยวะ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

การบวชควายจ่า ก่อนการจุดบั้งไฟ ของชุมชนบ้านแมด จะต้องบวชที่ศาล พระภูมิเจ้าปู่ พญาหลวงเถ้าเจ้าโฮงแดง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ท่านเป็นผู้คอยปกป้องคุ้มครองคน-สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านให้มีความปลอดภัย อนู่เย็นเป็นสุข และช่วยเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนในปีนั้นๆ

คนที่บวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดในงานบุญบั้งไฟในแต่ละปีสืบทอดต่อๆกันมาตามสายเลือด หรือไม่ก็จะเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติเดียวกันเป็นหลัก จะต้องทำลีลาท่าฟ้อนเลียนแบบกิริยาท่าทางของควายจริง ทั้งลีลาการเดิน วิ่ง เป็นสัด และลีลาการม้วนตัวลงปลักตมตามนิสัยควาย จนสุดความสามารถที่จะแสดงได้ ซึ่งยาก-หนัก และเหนื่อยมาก ฉะนั้นคนที่เข้าพิธีบวชเป็นควาย จะต้องเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงด้วย

ซึ่งประเพณีนี้ชาวบ้านแมด ตำบลเชียงขวัญ มักจะจัดขึ้นในอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ของทุกปี ณ บริเวณศาลปู่ตา (ศาลพระภูมิเจ้าปู่พระยาหลวงเถ้าเจ้าโฮงแดง) บ้านแมด อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

นายหนูดี ขาวศรี ผู้นำในการประกอบพืธีเล่าว่า การบวชควายจ่าหรือควายหลวง เราจะจัดขึ้นช่วงประเพณีบุญเดือน 6 หรือบุญบั้งไฟ การจัดงานแบ่งอิกเแน 3 วัน วันแรกช่วงเช้าบวชควายจ่าแห่ควายจ่า วันที่ 2 เป็นวันแห่บั้งไฟ ฟ้อนรำ และวันที่ 3 เป็นวันจุดบั้งไฟถวาย ซึ่งที่นี่จัดสืบทอดกันมาต้องแต่บรรพบุรุษ ไม่น่อยกว่า 200 ปี โดยสายเลือดหรือญาติพี่น้อง สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันตนเองอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และได้พาชาวบ้านจัดพิธีนี้มาไม่น้อยกว่า 40 ปี ส่วนคนที่บวชเป็นควายจ่าก็เป็นคนเก่าต่อเนื่องมาแล้วกว่า 30 ปี

หลังพิธีบวชควายจ่าหรือควายหลวงเสร็จก็จะมีการเข้าไปเซ่นไหว้ ศาลพระภูมิเจ้าปู่พระยาหลวงเถ้าเจ้าโฮงแดงและนำบั้งไฟที่จะจุดขอพรให้บั้งไฟจุดขึ้นฟ้าได้อย่างปลอดภัย จากนั้น ก็พากันแห่รอบศาล เจ้าปู่ 3 รอบอย่างสนุก ครึกครื้นโดยที่มีชาวบ้านและผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ก็ปะหน้าด้วยถ่านหรือหมึกสีดำ สีแดง ที่ใบหน้ากันอย่างสนุกสนาน และมีการนำหญ้าใส่ปากให้ควายกิน ซึ่งหญ้าในที่นี้ไม่ใช่หญ้าเหมือนที่เราให้วัวควายกิน แต่หมายถึง เอาเงินที่เป็นแบ๊งค์ใส่ปากควายจ่านั่นเอง และเงินที่ได้จะนำมาพัฒนาศาลเจ้าปู่ฯ และชุมชนต่อไปจากนั้นก็จะเคลื่อนขบวนแห่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชน เยาวชน รู้สึกถึงกลิ่นอาย อารยธรรม วัฒนธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก จนแทบจะบอกได้ว่ามีที่นี่ที่เดียวในโลกก็ว่าได้

คลิป, ชาวบ้าน

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.