งานประเพณีบุญบั้งไฟ อบต.หนองบัวใต้ จุดกระแสรวมพลังความสามัคคี 10 ชุมชนเป็น 1 พลิกฟื้นความสามัคคีของชุมชนเป็นหนึ่งเดียวของอำเภอศรีบุญเรือง
เมื่อเวลา 14:00 น. ของวันที่ 1 มิถุนายน 2567 นายเพทาย จรกระโทก นายอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2567 ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง โดยมี นายชัยยุทธ บุญยะใบ นายก อบต.หนองบัวใต้ พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ อบต.หนองบัวใต้ กำนัน ผญบ.ในพื้นที่ และมี นางรุจิรา จรกระโทก ประธานแม่บ้านมหาดไทย อำเภอศรีบุญเรือง นายอี๊ด รัศมีเดือน ส.อบจ.เขต อำเภอศรีบุญเรือง นางสาวโอปอล์ หัตถสงเคราะห์ ผู้แทนนายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองบัวลำภู ชาวบ้านใน 10 ชุมชนของตำบลหนองบัวใต้ เข้าร่วมขบวนแห่และร่วมสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมฟ้อนรำ อันเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสาน
นายชัยยุทธ บุญยะใย นายก อบต.หนองบัวใต้ กล่าวว่าในอดีตวัฒนธรรมประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่หลายประเพณีกำลังจะเปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากวิถีชีวิตของคนจากอดีตสู่ปัจจุบัน รับเอาวัฒนธรรมภายนอกทางโลกสื่อโซเซี่ยนจนลืมรากเหง้าเก่าแก่ที่ดีงามของบรรพบุรุษที่สั่งสมมา คนเฒ่าคนแก่ได้แค่นั่งบ่นเมื่อเห็นเยาวชนลูกหลานเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความสมัครสมานสามัคคี ในการจัดกันทำบั้งไฟ
ในอดีตการทำบั้งไฟจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน/ดินประสิว) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด ซึ่งสมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากัน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คน ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร กว่าจะมาบั้งไฟแต่ละบั้งได้ต้องใช้เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนกันทำร่วม 1 อาทิตย์
จุดเด่นของการชมประเพณีบุญบั้งไฟ วันแรกต้องขอชื่นชมความพร้อมเพรียงของขบวนฟ้อน 100 กว่าคนในชุมชนที่ออกมาแต่งกายแบบเดียวกัน ท่ารำเป็นแบบเดียวกัน เสมือนว่าไม่ได้นัดหมายกัน จากคนใน 10 ชุมชนรวมเป็นหนึ่งพร้อมชมขบวนแห่บั้งไฟเป็นไปอย่างสวยงาม และช่วงเช้าวันที่สอง คือการจุดบั้งไฟขึ้นสูงที่สวนสาธารณะบึงงิ้ว บ้านสร้างเสี่ยน ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง
ว่ากันว่าบุญบั้งไฟในสองพิธีกรรมที่อยู่คนแต่ละภาคนี้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า “บักแบ้น” หรือ “ปลัดขิก” ในอีสานหรือ “ขุนเพ็ด” เข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์ สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝนซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า
ในขณะที่ นายเทพาย จรกระโทก นายอำเภอศรีบุญเรือง กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้ขึ้น ถือเป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็ง แสดงถึงความสมัครสมาน สามัคคี ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีแบบนี้สามารถทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ยาวนาน ขอบคุณชาวตำบลหนองบัวใต้ อย่างมากที่สามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ลูกหลานสืบทอดต่อ และการจัดประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีท้องถิ่นที่ทาง อบต.หนองบัวใต้ เป็นผู้ให้การสนับสนุน จึงอยากผลักดันให้ประเพณีบุญบั้งไฟนี้เป็นงานประเพณีระดับอำเภอเพื่อพัฒนาประเพณีบุญบั้งไฟสืบต่อไป”
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ผสข.หนองบัวลำภู