ขอนแก่น (ชมคลิป) เลี้ยงแมงดานาแปรรูปเป็นแจ่วบอง สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท

แม่ค้าขายกับข้าวชาวอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หันมายึดอาชีพเพาะขยายพันธุ์แมงดานาไว้ขายเป็นพ่อและแม่พันธุ์ คู่ละ 100 บาท และส่วนหนึ่งนำไปแปรรูปเป็นแจ่วบองปลาร้าแมงดาขาย มียอดสั่งซื้อจนทำขายไม่ทัน สร้างรายได้หลาย 3-4หมื่นบาทต่อเดือน เผยหลายปีก่อนต้องไปตระเวนหาซื้อแมงดามาเป็นวัตถุดิบในการทำกับข้าวซึ่งมีราคาแพง กระทั้งซื้อมาขังไว้ ก่อนพบแมงดาวางไข่จึงเริ่มเพาะพันธุ์ขายเอง

       

วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ศูนย์เลี้ยงแมงดา ตั๊กแตน แม่ลิน้ำพองขอนแก่น บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นางมะลิ โนนทิง อายุ 64 ปี เจ้าของศูนย์เลี้ยงแมงดาฯ พาผู้สื่อข่าวสำรวจดูแมงดานา กว่า 200 ตัว ที่นำขึ้นมาจากบ่อเลี้ยง หลังจากที่นำมาพักไว้ภายในบ่อที่โครงสร้างทำจากไม้ ล้อมด้วยมุ้งไนล่อน ซึ่งแมงดาจำนวนนี้เป็นแมงดานาตัวผู้และตัวเมีย อายุระหว่าง 5 – 7 เดือน ที่เตรียมไว้ขายให้กับลูกค้าทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องการนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อ โดยการเพาะเลี้ยงแมงดานานี้ เป็นอาชีพที่นางมะลิ ยึดเป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2560

นางมะลิ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และทำกับข้าวขายตามตลาดนัดคลองถมเป็นอีกอาชีพ แต่หลังจากที่พื้นที่ทำนาถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ และการที่ต้องคอยปั่นจักรยานไปหาตระเวนซื้อแมงดานามาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารไปขาย ซึ่งแมงดานามีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเคยซื้อในราคา 40 ตัว 10 บาท ก็กลายมาเป็น 2 ตัว 10 บาท จนกระทั้งปี 2558 ราคาเพิ่มเป็น 3 ตัว 20 บาท ในครั้งนั้นตนเองจึงตัดสินใจซื้อแมงดานาที่มาชาวบ้านนำมาขายในตลาดมาไว้มากกว่าปกติ ซึ่งช่วงนั้นแมงดาก็กำลังมีราคาแพง โดยนำมาขังไว้ในกะละมัง ปรากฏว่าวันต่อมาตนเองจะนำเอาแมงดาไปทำอาหาร ก็พบว่า แมงดามีการวางไข่ จึงมีแนวคิดว่าอยากลองเพาะเลี้ยงไว้วัตถุดิบในการทำกับข้าวไปขาย หากได้ผลก็จะไม่ต้องไปซื้อกับคนอื่นอีก จากนั้นจึงได้ทดลองเพาะเลี้ยงแบบลองผิดลองถูก จนกระทั้งสามารถเพาะเลี้ยงแมงดานาได้สำเร็จ โดยวิธีการเลี้ยงและการเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยง เริ่มจากการเตรียมบ่อเลี้ยงจะเป็นปูน ผ้าใบ หรือบ่อดินก็ได้ แต่ต้องขุดบ่อให้มีความลึกไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ซม. จากนั้นหาพืชน้ำ เช่น ต้นข้าว ต้นกก จอด แหน มาใส่ลงในบ่อ ทำมุ้งครอบเพื่อป้องกันแมงดาบินออก เติมน้ำธรรมชาติลงในบ่อ หากเป็นน้ำประปาให้พักน้ำไว้ 4 – 5 วัน ส่วนอาหารของแมงดา จะเป็นกุ้งขนาดเล็ก ปลาซิว หรือลูกอ๊อด หากได้ตัวที่ยังเป็นๆ อยู่จะดีกว่า ติดสปริงเกอร์เพื่อสร้างความเย็น โดยเปิด 4 – 5 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 30 – 60 นาที งดเว้นการรบกวนจาก คน สัตว์ แสงและเสียง หากแมงดาวางไข่ ให้แยกเอาไข่ออกมารอฟักในบ่ออนุบาล โดยประมาณ 7 วัน ไข่แมงดาก็จะฟักเป็นตัว ก็สามารถเลี้ยงดูแลได้ตามขั้นตอนข้างต้น

นางมะลิ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเองพาครอบครัวหันมายึดอาชีพเลี้ยงแมงดานาขายมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีขึ้น มีรายได้จากการขายพ่อแม่พันธุ์แมงดา และขายแจ่วบองแมงดา เดือนละประมาณ 30,000 – 40,000บาท ซึ่งปัจจุบันแจ่วบองแมงดาขายดีมาก มีลูกค้าสั่งซื้อจนทำแทบไม่ทัน เนื่องจากแจ่วบองแมงดาสูตรของตนเองมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม โดยปลาร้าที่นำมาทำแจ้วบอง จะเป็นปลาร้าปลาตะเพียนที่หมักไว้อย่างน้อย 2 ปี นำมาโครกเข้ากับสมุนไพร ปรุงรสตามสูตร และที่ขาดไม่ได้คือ แมงดานาที่เป็นส่วนผสมที่ให้กลิ่นที่หอมเย้ายวน เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า โดยจะนำปลาร้าบองแมงดาที่ทำเสร็จบรรจุใส่กระปุก ขายกระปุกละ 60 บาท และ 100 บาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊คชื่อ “ศูนย์เลี้ยงแมงดาแม่ลิขอนแก่น เพจจริง” หรือ โทร. 080 – 9234525

คลิป, ชาวบ้าน

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.