ขอนแก่น (ชมคลิป) ก่อเจดีย์ทราย “ตบปะทาย” สรงน้ำพระลับ ประเพณีสงกรานต์อีสาน 67

การประกวดก่อกองทรายที่วัดธาตุพระอารามหลวง หนึ่งในกิจกรรมในงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานฯ ปี 2567 พร้อมเรียนรู้พิธี “ฮดสรง” พระพุทธพระลับจำลอง และ ชักรอกสรงน้ำองค์พระธาตุ

           11 เม.ย.67 ที่บริเวณวัดธาตุพระอารามหลวงต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาล หัวหน้าส่วนงานเทศบาล พนักงานเทศบาล พี่น้องชุมชน ประชาชนชาวขอนแก่น และนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ร่วมกันเปิดกิจกรรมการประกวดตบประทาย หรือ ก่อพระทราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2567

โดยมีคณาจารย์จากศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และมีผู้เข้าร่วมประกวด จำนวน 4 ทีม ซึ่งมาจากพี่น้องชุมชนทั้ง 95 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยแบ่งออกเป็น 4เขต ท่ามกลางบรรยากาศความสนุกสนานด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของพี่น้องชุมชน  โดยมีหลักเกณฑ์การให้คะแนน จะเน้น 1.การแสดงออกถึงฝีมือการก่อ ความประณีต สวยงาม 2.สื่อความหมายในด้านศิลปวัฒนธรรม แสดงเอกลักษณ์ศิลปะสถาปัตยกรรม 3. การจัดองค์ประกอบของเจดีย์ ขนาดได้สัดส่วน ความสมดุล  4. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  5. ความตรงต่อเวลา ผลงานเสร็จทันเวลา และ 6. ความร่วมมือและความพร้อมเพรียงของทีม  โดยมีผลการตัดสิน ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล  15,000  บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  ได้รับเงินรางวัล  10,000  บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล  7,000  บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล  5,000  บาท

              โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาต่างพากันให้ความสนใจในการก่อทราย นอกจากนี้คณะครูยังได้พาน้อง ๆ นักเรียนตัวจิ๋ว เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัด เช่น การให้น้องๆ หนูๆ ได้ทำพิธีฮดสรง หรือ สรงน้ำพรพุทธรูป “องค์พระลับ” จำลอง โดยการตักน้ำจากตุ่มแล้วนำมาเทลงใน “ฮางฮด” หรือ “รางริน” ที่จำลองเป็นพญานาค เพื่อให้น้ำไหลตามรางรินไปสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวและเด็กๆ ได้ร่วมกันชักรอกสรงน้ำองค์พระธาตุอีกด้วย

             นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  กล่าวว่า การตบประทาย เป็นภาษาอีสาน  หมายถึง การก่อกองทราย เป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย ซึ่งการจัดการประกวดในวันนี้พี่น้องชุมชน ทั้ง 95 ชุมชน 4 เขต ได้ร่วมมือในกิจกรรมที่เป็นการสืบสวนอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะเป็นการสืบสวนอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น