หนองบัวลำภู – ตัวแทนภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.)

จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วม 20 คนยื่นหนังสือ 5 ต้องผ่านตัวแทน ส.ส.จังหวัดหนองบัวลำภู ให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการปกป้อง คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และความยั่งยืนของสังคมตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเสียงสะอึ้นไม่เห็นด้วย กับการที่จะมาขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แค่นี้ก็พอแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 24 มีค.67 ณ ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองบัวลำภู ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองหนองบัวลำภู นางสาวโอปอล์ หัตถสงเคราะห์ เป็นตัวแทน นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองบัวลำภู รับหนังสือจาก นางวิริยา แก่นปัดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยนางพรรณิภา มาลาศรี ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จังหวัดหนองบัวลำภู และเยาวชนคนสู้หล้า ร่วม 20 คนเพื่อส่งต่อให้ นายสยามฯส.ส.จังหวัดหนองบัวลำภู ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการปกป้อง คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และความยั่งยืนของสังคมตามขั้นตอนของ สภาผู้แทนราษฏร 5 ต้องคือ 1) ต้องไม่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ 2)ต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน 3)ต้องไม่เพิ่มการบริโภค 4) ต้องไม่เพิ่มผลกระทบ 5) ต้องเพิ่มการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นางวิริยาฯผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นสารเสพติดถูกกฎหมายที่สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบในทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งต่อตัวบุคคล ต่อครอบครัว ต่อสังคมชุมชน และต่อประเทศชาติ นอกจากจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกช้อนแล้ว ยังสร้างปัญหาสังคม ทั้งอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม

ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลก 3.3 ล้านคนต่อปี นอกจากอาการของโรคต่างๆแล้ว ยังพบว่าเด็กและเยาวชนร้อยละ 40.8 ก่อคดีระหว่างดื่มหรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มสุรา ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 55.9% และคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ 46.2 ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 14,854 คน สาเหตุจากดื่มแล้วขับ 25-30 % เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 38.3%

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีมาตรการสอดคล้องกับการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2550 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่ม 18 ล้านคน หรือ 30.02% ล่าสุดข้อมูลปี 2564 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่ม 15.9 ล้านคน หรือ 28.0% สัดส่วนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีแนวโน้มลดลง จาก 37.8 % ในช่วงปีใหม่ปี 2551 เหลือ 25.6% ในช่วงปีใหม่ปี 2565 และช่วงสงกรานต์ ลดลงจาก 35.5% ในปี 2551 เหลือ 24.2% ในช่วงสงกรานต์ปี 2564

นางวิริยาฯกล่าวต่อสืบเนื่องจากรัฐบาล มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 12 มีค.ที่ผ่านมา ไปยังวิปรัฐบาลเพื่อนำเข้าพิจารณาตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีความเห็น 8 ประเด็นต่อการปรับแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีนัดหมายในการบรรจุวาระการประชุมเพื่อรับหลักการวาระที่ 1 ร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆในวันที่ 27 มีนาคม 2567

ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) ในฐานะภาคประชาชนที่รณรงค์เพื่อหาทางป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความห่วงใยต่อข้อเสนอ 8 ข้อของรัฐบาลต่อการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในการเพิ่มเวลาขาย เพิ่มสถานที่ขาย/ดื่ม เพิ่มการโฆษณา เพิ่มการส่งเสริมการขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการทำให้มาตรการต่างๆอ่อนแอลงเสี่ยงต่อการเพิ่มความสูญเสียต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และชีวิตประชาชน ที่สำคัญน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่และธุรกิจรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการเพิ่มการผูกขาดและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม

อีกทั้งที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายฯ ขอให้รัฐสภา สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่… พ.ศ. … ที่เสนอโดย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน ซึ่งมีเนื้อหาและเหตุผลในการแก้ไขให้มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รัดกุม เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ที่มีธุรกิจผลิตจำหน่ายนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีขนาดใหญ่เป็นเจ้าตลาดและมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มีการพัฒนาสื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประชาชน เด็กเยาวชน มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดของการมายื่นหนังสือต่อ ส.ส.จังหวัดหนองบัวลำภู ภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ต้อง

ทางด้านนางพรรณิภา มาลาศรี ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าที่ตนเองต้องมานั่งรถวิลแชร์เกือบตลอดชีวิตร่วม 30 ปี จนมาถึงทุกวันนี้ ตนเองตกเป็นเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าว ด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือจุกแน่นในอกและน้ำตาคลอเบ้า ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการปรับเพิ่มเวลาสถานที่ในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไม่อยากให้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมาแล้วขับไปสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น

อย่างเช่นตัวเอง ไม่เคยดื่มเหล้าแต่ต้องมาพิการนั่งรถวิลแชร์เป็นเหยื่อของคนเมาแล้วขับ จึงได้พยายามออกมารณรงค์ต่อต้านเรื่องนี้ ไม่อยากให้คนอื่น ครอบครัวอื่นต้องมากลายเป็นเหยื่อ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่อครอบครัว ของคนอื่น ถ้าคุณเมา คุณตายเราไม่ได้เสียใจเลย แต่เราเป็นคนบริสุทธิ์ เราไม่ได้เมาแต่ทำไมเราต้องได้มารับผลกระทำของคุณ จึงอยากจะสะท้อนและฝากถึงท่านผู้นำคือ ท่านมีอำนาจสั่งการ

ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการที่จะมาขยายเวลาขายเหล้า ขายแอลกอฮอล์ จะมาขยายทำไม แค่นี้ก็พอแล้ว ตั้งแต่ที่ตัวเองเกิดเหตุไม่มีการขยายเวลา ก็ยังต้องรับกรรมอย่างนี้ แล้วถ้ามาขยายเวลาอีก ลูกหลาน เยาวชนของเราจะยิ่งไม่บาดเจ็บ พิการ ตายไปมากกว่านี้อีกเหรอ จึงอยากจะฝากกับผู้นำของประเทศด้วย และถ้าจะเลิกคงเป็นไปได้ยากเพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ก็อยากจะฝากถึงคนเมาว่า ถ้าดื่มเมาแล้วก็ไม่ควรจะขับ อยู่กับบ้าน จะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น นางพรรณิภา มาลาศรี กล่าว ทิ้งท้าย

ในขณะที่นางสาวโอปอล์ฯตัวแทนของ นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าจากนี้ไปตนเองจะส่งหนังสือของภาคีเครือข่ายฯให้กับ ส.ส.เพื่อนำไปสู่การศึกษาและพิจารณาตามข้อเสนอของตัวแทนภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) โดยส่วนตัวตนเองสูญเสียคนในครอบครัวเพราะแอลกอฮอล์ และตนเองก็ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ เห็นด้วยหากจะมีการจัดโซนนิ่งของการจำหน่ายและการดื่มแอลกอฮอล์ในทุกช่วงวัย เห็นใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนเมาแล้วขับ

สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ภาพและข่าว รายงานจากจังหวัดหนองบัวลำภู