ขอนแก่น (ชมคลิป) ‘ตะลึง’ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจิตเวชจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น

ผ.อ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์  เผย พบผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบกับเจ้าหน้าที่เร่งปราบปรามยาเสพติดนำตัวผ็ป่วยเข้าบำบัดอย่างเข้มงวด   

วันที่ 22 มี.ค. 67 นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่มารักษาการที่โรงพยาบาล  จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่มีอาการทางจิตถึงถูกส่งเข้ามา ถ้าเป็นรายที่อาการไม่หนัก  อาจจะไปรักษาที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์หรือโรงพยาบาลอื่น ๆ  ใน 5 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลคม 2566 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัด แบ่งออกเป็นผู้ป่วยนอก 4,238 ราย ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์

จากข้อมูลพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารกระตุ้นระบบประสาท หรือยาบ้า 1,973 ราย สารเสพติดหลายขนาน 1,787 ราย แอลกอฮอล์ 742 ราย และจากข้อมูลการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในจังหวัดขอนแก่น พบว่าตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมการาคม 2567 มีจำนวน 1,700 รายเศษ ครึ่งของปริมาณของผู้ที่เข้ารับการรักษาทั้งหมดจาก 4 จังหวัด มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีนัยยะ

สำหรับในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำแนกเป็น 5 อำเภอ ที่มีผู้ติดสารเสพติด มารับการรักษามากที่สุด ประกอบด้วย อำเภอเมือง 430 คน อำเภอน้ำพอง 140 คน อำเภอกระนวน 127 คน อำเภอฝาง 101 คน และอำเภอหนองเรือ 74 คน ตามลำดับ สำหรับช่วงไหนมีการกวาดขันตามนโยบายอย่างเคร่งครัดช่วงนั้นผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น จนเตียงไม่เพียงพอเพราะผู้ป่วยต้องใช้เวลารักษาตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะรักษาจนกว่าอาการทางจิตหายไป และจะส่งกลับไปยังชุมชน เข้าสู่กระบวนการบำบัดชุมชน ตามนโยบายของทางกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ธรณินทร์ ยังกล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่จังหวัดขอนแก่นจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด  ช่วยแบ่งเบาภาระของ รพ.จิตเวชได้ยังไม่เต็มที่  เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการนี้อยู่ การบำบัดในชุมชนจะดำเนินการในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย  และการประเมินของแพทย์ที่ทำการรักษา และจะมีกระบวนการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง  จากนั้นจะมีการส่งเสริมอาชีพ  ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่หันกลับมายุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดอีก   ถ้าสามารถทำได้  ก็จะลดจำนวนผู้ป่วยลง.