สภาพอากาศที่จังหวัดขอนแก่นที่เริ่มร้อนขึ้น ส่งผลทำให้เป็ดพันธุ์ไข่ที่ฟาร์มเลี้ยงเป็ดในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น วางไข่น้อยลง เนื่องจากเป็ดเบื่ออาหารและไม่ผสมพันธุ์ จากที่เคยเก็บไข่เป็ดได้วันละกว่า 50 แผง ลดเหลือราว ๆ 30 – 40 แผง เจ้าของฟาร์มต้องเพิ่มวิตามินเพื่อเป็นการกระตุ้น
วันที่ 11 มีนาคม 2567 ไข่เป็ดสดที่ผ่านการคัดไซส์ ล้างทำความสะอาด และนำมาวางใส่แผงไข่ ประมาณ 40 แผง เป็นไข่เป็ดที่เจ้าของฟาร์มอำพลฟาร์ม เป็ดไข่บ้านดงพอง หมู่ 10 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เตรียมไว้สำหรับนำเข้าสู่ขั้นตอนการทำไข่เค็ม เพื่อขายให้กับลูกค้าในเขตเทศบาลนครขอนแก่น หลังจากที่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเก็บไข่เป็ดออกจากคอก ที่เลี้ยงเป็ดไข่ไว้ รวม 2,000 ตัว ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งไข่เป็ดที่เก็บได้ในวันนี้เจ้าของฟาร์มบอกว่ามีจำนวนลดลงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้น
นายอำพล แสนนา อายุ 35 ปี เจ้าของอำพล ฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่บ้านดงพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ฟาร์มของตนเองจะเลี้ยงเป็ดไข่ เพื่อนำไข่มาทำเป็นไข่เค็มขายเป็นหลัก ซึ่งนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลทำให้เป็ดที่เลี้ยงไว้เริ่มวางไข่น้อยลง จากปกติที่เคยเก็บไข่เป็ดได้เฉลี่ยวันละ 50 – 55 แผงต่อเป็ด 2,000 ตัว แต่ปัจจุบันเก็บไข่เป็ดได้ไม่ถึง 50 แผง และไข่เป็ดที่ออกมาก็มีขนาดเล็กลง นั้นหมายความว่าในจำนวน 50 แผง จะมีไข่เป็ดขนาดเบอร์ศูนย์ที่จะนำไปทำเป็นไข่เค็มได้ประมาณ 30 แผงเท่านั้น ส่วนที่มีขนาดเล็กก็จะนำไปขายเป็นไข่สด ซึ่งในช่วงนี้ที่ฟาร์มยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังมีแหล่งน้ำให้เป็ดได้ลงเล่นคลายร้อน แต่คาดว่าในช่วงเดือน เม.ย.ที่จะมาถึงนี้ ที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น จะส่งผลกระทบกับการวางไข่ของเป็ดมากขึ้น ทำให้ขณะนี้ทางฟาร์มต้องหาอาหารเสริม เช่น วิตามินมาผสมกับอาหารและน้ำให้เป็ดได้กิน เพื่อเป็นการกระตุ้นการอยากอาหารและการวางไข่ ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนในการเลี้ยงไปอีก เพราะปัจจุบันต้องซื้อหัวอาหารในการเลี้ยงเฉลี่ยวันละ 8 กระสอบ ราคากระสอบละ 540 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายต่อวันประมาณ 4,320 บาท
ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น รายงานภาพรวมสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2567 เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำ 1,457.84 ล้าน ลบ.ม./59.96% น้ำใช้การ 876.17 ล้าน ลบ.ม./47.37% น้ำไหลเข้า 0.08 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 7.10 ล้าน ลบ.ม. แผนจัดสรรน้ำ 1,325.00 ล้าน ลบ.ม. ผลจัดสรรน้ำ 1,180.52 ล้าน ลบ.ม.(89.10%) รับน้ำได้อีก 973.46 ล้าน ลบ.ม.(40.04%) แผนและผล การจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างฯขนาดกลาง แผนรวม 2,608.00 ล้าน ลบ.ม./แผนสะสม 2,129.14 ล้าน ลบ.ม./ผลสะสม 2,071.41 ล้าน ลบ.ม. (79.43%)/คงเหลือ 536.60 ล้าน ลบ.ม. (-20.57%)
ขณะที่แผนและผล การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2566/67 พื้นที่ชลประทาน 2,461,970 ไร่ มีแผนการเพาะปลูก 1,228,516 ไร่ /มีผลการเพาะปลูก 1,191,681 ไร่ (97.00%) ผลการให้ความช่วยเหลือในเขต สชป.6 มีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 164 เครื่อง ลงท่าสูบช่วยเหลือ 39 เครื่อง (เกษตร 38 เครื่อง/อุปโภค 1 เครื่อง/อุทกภัย 0 เครื่อง) ช่วยเหลืออุปโภค-บริโภค/นาปี/บ่อก่อสร้าง/อุทกภัย ปริมาณสูบน้ำ 191,200 ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์ ปกติ