กาฬสินธุ์ (ชมคลิป) นายกเศรษฐา ‘ย้ำ’ สิ้นสุดการรอคอยเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำแก้ภัยแล้งให้ชาวกาฬสินธุ์

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมย้ำกับพี่น้องประชาชนสิ้นสุดการรอคอยแล้ว ระบุเดินหน้าได้ทันทีในปีหน้า โดยใช้งบกว่า 400 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี  เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนแก้ไขปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน

               เมื่อเวลา 15.45 น.วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเดินทางไปยังพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์  เพื่อหารือประเด็นการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายภูมินทร์ ภูมิเขตร ส.จ.อำเภอกุฉินารายณ์ นายพิษณุ งาดี นายกเทศมนตรีตำบลนาขาม พร้อมด้วยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน และประชาชนรายงานสภาพปัญหาและให้การต้อนรับ

               สำหรับกรณีการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพัฒนาอาชีพและส่งเสริมศิลปาชีพของราษฎร โดยลุ่มน้ำยังเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร

ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยังสอดคล้องกับความต้องการ และแผนแม่บทการพัฒนาโดยรวม และเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2546 กรมชลประทานโดยสำนักบริหารโครงการ จึงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานวางโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง แต่เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างหัวงานโครงการและพื้นที่น้ำท่วม ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงแม่ผด ทั้งหมดเนื้อที่ประมาณ 252 ไร่ จึงต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

กระทั่ง ในพ.ศ. 2565 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จึงขอความอนุเคราะห์สำนักบริหารโครงการ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อนำไปใช้ประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประกอบกับพื้นที่ ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ห่างไกล เป็นที่ราบสูง ซึ่งประชาชนประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงหน้าแล้งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ได้ส่งเรื่องร้องขอไปยังนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 และนายภูมินทร์ ภูมิเขตร ส.จ.อำเภอกุฉินารายณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ติดตามเรื่องโครงการดังกล่าว กระทั่งนายประเสริฐ ได้นำเรื่องตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ และมีความเป็นห่วง จึงมาตรวจราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้นำเสนอโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในครั้งนี้

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและใช้สำหรับการอุปโภคพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่โครงการ 251-1-24 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจออกแบบ (พ.ศ. 2567- 2568) และเสนอขอตั้งงบประมาณ ประจำปี 2569 – 2571 ระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 400 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พื้นที่ ต.นาขาม และตำบลใกล้เคียงจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคง เป็นการลดความเสี่ยงของการขาดแคนน้ำ และสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 8,500 ไร่

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวแสดงความดีใจยินดี และบอกกับพี่น้องประชานว่า เดินหน้าดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและใช้สำหรับการอุปโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยของประชาชน

อย่างไรก็ตามนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญที่ประชุมหารือประเด็นปัญหาและแผนพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งนายกฯ ได้มาติดตามปัญหาและแผนพัฒนาดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มีการเห็นชอบทั้ง 16 โครงการที่ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและใช้สำหรับการอุปโภค ณ พื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อยก็เป็น 1 ใน 16 โครงการที่เสนอวันนี้ด้วย โดยปีหน้าจะเริ่มชดเชยให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและเดินหน้าดำเนินโครงการต่อได้ทันที