เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะเดินทางไปตรวจราชการเพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด และพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจุดแรก เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ต.พระธาตุ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การแก้ไข ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำซีทรุดตัว จากอธิบดีกรมชลประทาน
นายกเศรษฐา ได้กล่าวพบปะกับหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นตลอดจนประชาชนที่มาให้การต้อนรับ ว่าสวัสดีพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทุกคน ผมดีใจมากที่ได้กลับมาร้อยเอ็ดอีกครั้งตอนที่ผมมาตอนนั้นเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตอนนี้ได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้วประมาณ 6 เดือน วันนี้ก็ได้กลับมาดูพี่น้องอีกทีว่าพี่น้องชาวร้อยเอ็ดมีความต้องการอะไรบ้าง จะได้บริหารจัดการเรื่องงบประมาณ จะได้จัดสรรสิ่งที่พ่อแม่พี่น้องต้องการ วันนี้มีรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน ที่ถือว่าท่านเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญอย่างมาก
ในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่า เราก็บริหารจัดการน้ำได้ดีพอสมควร ไม่ท่วม ไม่แล้ง เกษตรกรสามารถทำนาได้ ปีนี้น้ำน่าจะโอเคขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่ว่า ฝนจะตกมากหรือน้อยขนาดไหนอย่างไร ผมได้กำชับอธิบดีกรมชลประทานไปแล้วว่า เรื่องของการใส่ใจ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่เหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ มีน้ำเพาะปลูกอย่างเพียงพอตามความต้องการ
วันนี้ได้มีโครงการมาเสนออยู่ 5 – 6 โครงการ และได้ให้ไปแล้วเรียบร้อยไม่ว่าจะเป็น การทำผนังกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ หรือว่าอะไรต่างๆที่เกี่ยวกับระบบชลประทาน รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญมาก โอกาสหน้าจะได้กลับมาติดตามความคืบหน้าของโครงการ ต่างๆอีกครั้ง รวมทั้ง Project ต่างๆที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยอย่างไร วันนี้ดีใจและอบอุ่นมากที่ได้มาพบปะกับพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ในจังหวัดร้อยเอ็ดอีกครั้ง
โอกาสนี้นายทรงพล ใจกลิ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ ยื่น เอกสารขอรับการสนับสนุน กับนายกรัฐมนตรี ในการผลักดันแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกร จะได้มี แหล่งน้ำเพิ่มเติมจากแหล่งน้ำผิวดินที่มีอยู่ ซึ่งแหล่งน้ำผิวดินที่มีอยู่รวมทั้งแม่น้ำต่างๆ เมื่อถึงหน้าแล้งมันก็ไม่ค่อยมีน้ำเพียงพอต่อการประกอบอาชีพเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกร ก็เลยขอสนับสนุนเรื่องการทำบ่อบาดาลโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ดูดน้ำขึ้นมาให้เกษตรกรได้ใช้ได้ทำการเกษตร ซึ่งจุดจุดหนึ่ง สามารถจะรองรับเกษตรกรได้ประมาณ 20-30 ครัวเรือน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่า เกษตรกรจะได้ใช้น้ำในการปลูกพืชระยะสั้น ปลูกพืชในฤดูแล้งได้ ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 7,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน ถ้าเรากระจายระบบน้ำไปทั่วทั้งจังหวัดในจุดที่สามารถสูบน้ำบาดาลได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เราเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพมากสามารถใช้เพื่อการเกษตรได้เป็นอย่างดี ฤดูฝนก็จะมีการเติมน้ำลงไปในแหล่งน้ำใต้ดินได้ ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างใด เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เลยฝากโครงการถึงท่านนายกฯ ในการขอรับสนับสนุน เราเสนอไปตามจำนวนที่เราเข้าในระบบของ ศทนช. ไว้ประมาณ 284 บ่อ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 220 ล้านบาท
ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ภายใต้นโยบายไม่ท่วมไม่แล้งของรัฐบาล เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะมุ่งเน้นถึงการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนอง ต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดที่มุ่งดึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่พัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และไปอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงบ่าย
วินัย วงศ์วีระขันธ์ ร้อยเอ็ด