ขอนแก่น (ชมคลิป) ‘แล้งหนัก’ คลองชลประทานแห้งขอดกระทบเกษตรปลูกหัวไชเท้ารายใหญ่ขาดทุนกว่าครึ่ง

เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้ารายใหญ่ที่สุด ในพื้นที่ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น กำลังเดือดร้อนหนัก หลังน้ำในคลองชลประทาน  แห้งขอดจนเหลือแต่ดอนทราย ส่งผลให้หัวไชเท้าขาดน้ำใบเหลืองแห้ง ส่วนหัวมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์  เกษตรเสียหายขาดทุนไปกว่าครึ่ง

วันที่ 29 ก.พ. 2567 เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า บ้านหัวโง้ง ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแห่งปลูกหัวไชเท้ารายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จ.ขอนแก่น  ต้องเร่งเก็บหัวไชเท้า  มาล้างทำความสะอาดเพื่อส่งขายให้กับลูกค้า  หลังจากที่มีใบเหลืองและกำลังเหี่ยวแห้งตาย ส่วนหัวที่ได้ ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร  มีลักษณะเล็กกว่าปกติ

“ส่วนสาเหตุนั้น มาจากพืชที่ปลูกได้รับปริมาณน้ำน้อยมากเกินไป เพราะสภาพอากาศที่แห้งแล้ง  ทำให้แหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะที่ห้วยหนองโง้ง  ซึ่งมีต้นน้ำมาจากห้วยภูเหล็ก  ที่มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร  ควบคุมหลายตำบลในพื้นที่ อ.บ้านแฮด และ อ.บ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  ขณะนี้ได้แห้งขอดลงเหลือแต่ดอนทราย  ไม่เหลือน้ำทำการเกษตร  เกษตรกรต้องขุดบ่อขนาดเล็กในลำห้วย เพื่อให้น้ำที่เหลือเพียงน้อยนิด ไหลเข้ามาในบ่อ   แล้วนำน้ำไปรดให้กับต้นหัวไชเท้า  เพื่อไม่ให้ต้นที่เหลือ  ใบเหลืองแห้งตายไปมากกว่านี้”

นางมยุรี สีมณี อายุ 51 ปี เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า  กล่าวว่า   ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีน้ำทำการเกษตรมาแล้วกว่า  1 เดือน  ทำให้หัวไชเท้าใบเหลือง เหี่ยวแห้งตายหมด ซึ่งทุกปีก็มีน้ำพอเหลือใช้ แต่ปีนี้แล้งสุด ไม่เหลือน้ำทำการเกษตร  ซึ่งสาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงและอากาศที่แล้งมาเร็วกว่าปกติ   ประกอบกับฝายกั้นน้ำที่ทางชลประทานทำไว้ได้ขาดลง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซม  จึงไม่เหลือน้ำทำการเกษตร  ซึ่งปกติจะรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แต่ตอนนี้ต้องรดผักแค่วันละครั้งเท่านั้น  จึงทำให้ผลผลิตรลดลงไปกว่าครึ่ง เดิมจะเก็บหัวไชเท้าได้ครั้งละ 10 กว่าตัน  ตอนนี้เก็บได้แค่ 6 – 7 ตัน เท่านั้น  ส่วนราคาหัวไชเท้าในช่วงนี้อยู่ที่ กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งถือว่าได้ราคาดีพอสมควร  หากมีน้ำเพียงพอ  คงได้กำไรมากกว่านี้ และไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน.