เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 23 มกราคม ที่ห้องประชุมทองกวาว สนง.สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นพ.สสจ.อุดรธานี พร้อมด้วย นพ.ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี,นพ.สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ ผอ.รพ.กุมภวาปี,นพ.ชัยรัตน์ เจริญสุข ผอ.รพ.เพ็ญ,นพ.เกรียงไกร ไกยวรรณ์ ผอ.รพ.วังสามหมอ,นพ.ธงภักดิ์ มีเพียร ผอ.รพ.หนองหาน,พญ.กัลยารัตน์ อินทบุญศรี ผอ.รพ.น้ำโสม, พญ.สิริลักษณ์ รัตนแมนสรวง ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง และผู้บริหารและหัวหน้ากลุ่มงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ร่วมกันแถลงข่าว โครงการ “พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ตรวจรักษาโรค 7 คลินิกพื้นฐาน กับแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา
ดร.นพ.สมชายโชติ กล่าวว่า เนื่องด้วยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการณ์นี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ จังหวัดอุดรธานีในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น พบว่าประชาชนจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการรับบริการโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรองโรคและความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชน โดยในวันนี้เป็นการเปิดตัวโครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ที่ รพ.กุมภวาปี ในวันที่ 14 ม.ค. 2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ที่ รพ.เพ็ญ ในวันที่ 1 พ.ค. 3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่ รพ.วังสามหมอ ในวันที่ 6 เม.ย. 4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม ที่ รพ.หนองหาน ในวันที่ 2 มี.ค.5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ ที่ รพ.น้ำโสม ในวันที่ 26 ก.พ.6.คลินิกทันตกรรมการคัดกรองสุขภาพในช่องปาก ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง ในวันที่ 9 มี.ค. และ 7.คลินิกกระดูกและข้อ ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง ในวันที่ 9 มี.ค.
ดร.นพ.สมชายโชติ กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์อัตราตายของจังหวัดอุดรธานีด้วยโรคมะเร็งตับ ในปี 2560-2564 พบว่า 106.3 , 102.6, 117.3, 119.3 และ 125.9 ต่อแสนประชากร และพบอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ในปี 2560-2564ร้อยละ 2.4, 2.1, 0.9, 2.1, 1.2 ร้อยละต่อปี อัตราการตายด้วยมะเร็งปากมดลูก ในปี 2560-2564 พบว่า 6.06, 5.29, 4.15, 5.43, และ 7.61 ต่อแสนประชากร อัตราตายมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในปี 2560-2564 พบว่า 2.6, 3.42, 3.48, 3.89 และ 3.40 ต่อแสนประชากร อัตราตายมะเร็งเต้านม ในปี 2560-2564 พบว่า 8.97, 8.81, 8.92, 9.97 และ 12.6 ต่อแสนประชากร การคัดกรองสุขภาพตาในเด็ก ในปี 2566 จำนวน 27,376 คน ตรวจพบนักเรียนที่มีความผิดปกติ จำนวน 1,472 คน จำนวนนักเรียนที่ได้รับแว่นสายตา 1,268 คน ในช่องปากของเด็ก 3 ปี ปี 2563 – 2565 ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ร้อยละ 38.62, 36.00 และ 34.88 ปราศจากฟันผุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 84.83, 84.73 และ 88.96 เด็กอายุ 12 ปี ปราศจาก ฟันผุ ร้อยละ 78.49, 79.72 และ 92.66 การคัดกรองสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ ปี 2565 ผู้สูงอายุมีฟันถาวรใช้งานอย่างน้อย 20 ซี่ หรือ 4 คู่สบ ร้อยละ 85.02 ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยนิ้วล็อค ข้อมูลปี 2564-2566 จำนวน 31 ,16 และ 25 ราย และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นพ.สสจ.อุดรธานี กล่าวในตอนท้ายว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือประชาชนที่อยู่ห่างไกลหรือด้อยโอกาสเข้าถึงระบบบริการและได้รับความรู้ป้องกันการติดเชื้อ, ประชาชนกลุ่มติดเชื้อและสงสัยป่วยได้รับการรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง, อัตราการติดเชื้อในโรคต่างๆลดลง และ
ประชาชนมี Health Literacy ความรอบรู้ด้านสุขภาพ