วันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายวิเชียร สุดาทิพย์ นายอำเภอเมืองร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณี บุญคูณลาน ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน จาก 14 ตำบล ในอำเภอเมืองร้อยเอ็ดร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายจักรพงษ์ กุนันท์ ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า บุญคูณลาน สู่ขวัญข้าว ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวชั้นดีของไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเพณี “บุญคูณลาน”หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน คำว่า “คูณ”หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ลาน”คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” สำหรับประเพณีบุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ หรือในเดือนมกราคม ตามปฏิทินอีสานของทุกปี ทำให้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน “บุญเดือนยี่”ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) จะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย
ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี อาทิ ใบคูณ ใบยอ ยาสูบ เขาควายหรือเขาวัว หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วก็จะบรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า”ขวัญข้าว”ก่อนเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วจึงนำเครื่องประกอบพิธีบางส่วน ไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐาน หลังอธิษฐาน แล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว
หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าว ทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย
การจัดงานครั้งนี้แสดงให้เห็นจิตวิญญาณของชุมชน ที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีเกษตรกรรมมาช้านาน ด้วยสำนึกในบุญคุณของข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนทุกคน นอกจากนี้เป็นการแสดงออก ถึงพลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณที่กล้าแกร่งของชาวนา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการ
ท่องเที่ยวของอำเภอเมืองร้อยเอ็ด กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงแม่โพสพ สู่ขวัญข้าว การแสดงวัฒนธรรมศิลปะพื้นบ้านของตำบลต่างๆทั้ง 14 ตำบล
การจัดนิทรรศการและผลงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชน บ้านป่าเพิ่ม หมู่ที่ 11 ตำบลสะอาดสมบูรณ์ ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 การจัดนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคกหนองนา อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
การแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวอำเภอเมืองร้อยเอ็ด การประกวดแข่งขันตำส้มตำลีลา เป็นต้น