ศรีสะเกษ – ชมรมครูประถมล่ารายชื่อ 1 หมื่นราย หนุนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ชมรมครูประถมล่ารายชื่อ 1 หมื่นราย หนุนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ “ฉบับครูและประชาชน” เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ดร.สุนทร กุมรีจิตร เลขาธิการชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ห้องประ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ นายณัฐชัย บูรวัตร นายกสมาคมครูจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20จังหวัด) โดยมี นายพิพัฒน์ กาลพัฒน์ ประธานชมรมชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานการประชุม และมีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) นายสุเทน ฐานะ จาก จ.ชัยภูมิ นายประจวบ นาก้อนทอง จาก จ.ร้อยเอ็ด และว่าที่ ร.ต.เดชฤทธิ์ วรรณทอง จาก จ.สุโขทัย

สำหรับสาระสำคัญการประชุมที่ประชุมได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับครูและประชาชน) และมีมติร่วมกันพร้อมล่าลายมือชื่อครูและประชาชน 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมกับองค์กรครู 4 ภูมิภาค อีสาน เหนือ กลางและใต้ รวม 10,000 รายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อเป็นกฎหมายการศึกษาของชาติต่อไป
ซึ่งสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ 1.เด็กไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสและความเสมอภาคได้ครูดีเหมือนกันทั้งประเทศ 2.เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดและพรสววรรค์เพื่อสัมมาชีพ 3.รัฐต้องเป็นผู้จัดการศึกษาร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและเอกชน 4.ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย รัฐธรรมนูญฯ 5.บุคคล ชุมชน สังคมรักสามัคคี เคารพรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สรุปประเด็นสำคัญปัญหาของการบริหารจัดการศึกษาที่โรงเรียนประสบอยู่ ณ ปัจจุบัน 5 ประการ คือ 1.การเดินหน้าของรัฐ ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กต่ำกว่า 120 คน ทุกโรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของนักเรียน ผู้ปกครองด้านสิทธิและโอกาส ขององคาพยพสังคมชนบทไทยและพื้นที่ห่างไกล 2.ปัญหาสถานศึกษาเกือบทุกโรงเรียน (90 %) ไม่มีนักการภารโรง

3.ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมนำเจ้าหน้าที่ธุรการของโรงเรียนไปไว้ที่ สำนักงานเขต สร้างภาระและความเสี่ยงให้โรงเรียนมากขึ้น 4.ปัญหาหนี้สินครู ครูเป็นหนี้เพราะกู้ธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 6 บาทเศษ รัฐควรปรับลดอกเบี้ย ลดความเดือดร้อนของครู และ 5.ปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนไม่ได้ปรับเพิ่มมากว่า 20 ปีแล้ว คือ ปฐมวัยหัวละ 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท และ มัธยมต้น 3,500 บาท รัฐควรให้ความสำคัญปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและการศึกษา.

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน