ความต้องการของผู้ปกครองที่เด็กนักเรียนได้รับทุนของ กสศ. สะท้อนให้ทราบถึงความต้องการทุนต่อเนื่องในการเรียน ถึงแม้จำนวนเงินจะน้อยนิดไม่พอ สอดคล้องกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาแจงว่า การศึกษาคือการลงทุนจำเป็นจะต้องมีวัสดุอุปกรณ์นำมาใช้ในการเรียน แม้ว่าการช่วยเหลือจากทางภาครัฐบางส่วน ครอบครัวของเด็กที่มีความพร้อมก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเท่าใด แต่หากครอบครัวที่ยังไม่มีความพร้อมพวกเขาอยากให้หน่วยงานภาครัฐทำอย่างไร
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2560 ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ
สาเหตุหลักเนื่องจาก ความยากจนทำให้เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคน มีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ กสศ. มีภารกิจในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสนับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อบรรเทาความยากจนอันเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆ ซึ่งหากแก้ไม่ได้ ปัญหานี้จะส่งทอดวนเวียนไปข้ามชั่วคน จากพ่อแม่ ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้เพราะมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน
หันมารับทราบมุมสะท้อนที่เกิดขึ้นกับ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” ว่าความต้องการของครูผู้สอน ผู้ปกครอง และผู้บริหารระดับเขตการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น
คุณครูอุไรวรรณ กิตติกุลประเสริฐ และครูจุฑามาส ศิลา ครูโรงบ้านกุดพังทุย ต.พังทุย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวถึงทุน กสศ. ว่า “ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายของเด็กมากขึ้น คิดว่าน่าจะเพิ่มเพดานให้เด็ก ๆ อีก ซึ่งจำนวนที่เขาได้รับในขณะนี้ยังไม่พอใช้จ่าย ถึงแม้ว่าจะเรียนฟรี กินข้าวฟรี แต่ค่าใช้จ่ายของเด็ก ของผู้ปกครอง ก็เพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้เพิ่มเพดาน และขยายให้กับเด็ก ๆ ให้มีความเท่าเทียมกัน” สอดคล้องกับความคิดเห็นของ คุณครูจุฑามาส เกี่ยวกับจำนวนเม็ดเงินที่เด็กได้รับในแต่ละเทอมว่า “อยากให้ทุนกับเด็กต่อเนื่องจากเทอมแรกมาถึงเทอมที่สองด้วย จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง เพราะทุน กสศ. เด็กจะได้แค่เทอมเดียว ไม่ต่อเนื่อง แต่จะเป็นการหมุนให้กับคนใหม่ในเทอมต่อไป จึงอยากให้เด็กได้รบอย่างต่อเนื่อง จนเรียนจบภาคบังคับ”
ในส่วนของผู้ปกครองได้สะท้อนความคิดเห็นกับทุน กสศ.จากการสอบถามนางสงวน แสงโทโพธิ์ ซึ่งเป็นยายของ เด็กหญิงธัญวรัตน์ แสงโทโพธิ์ หรือน้องมะนาว ที่ได้รับทุนฯ เผยว่า “ทุนที่ได้รับก็ไม่เพียงพอในการใช้จ่ายสำหรับตัวของน้องมะนาว มีค่าใช้จ่ายอย่างเช่นชุดนักเรียนต้องควักกระเป๋าเอง ยังดีที่มีภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องทุน ก็ประหยัดไปได้ส่วนหนึ่ง ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ ถึงแม้ว่าลูกสาวไปทำงานที่ต่างจังหวัดส่งเงินมาให้ก็ไม่มากนัก ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยสู้ดี สำหรับทุน กสศ.จำนวน 1,500 บาท ได้รับแค่ครั้งเดียว อยากให้มีการเพิ่มทุน และให้แบบต่อเนื่องเพราะเป็นทุนเดียวด้วยที่น้องมะนาวได้ด้วย”
ขณะที่น้องมะนาว เด็กหญิงธัญวรัตน์ เล่าว่า “ทุนที่หนูได้รับได้นำไปซื้ออุปกรณ์การเรียน เช่น สมุด ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ยายได้ให้เงินไปโรงเรียนวันละ 10 บาท ใช้จ่ายหมดไม่เหลือเก็บใส่ออมสิน และโตขึ้นอยากเป็นคุณครู”
ทางด้าน นางประยงค์ อดทน ยายของเด็กหญิงปราณวรินทร์ ทองป้อง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาศัยอยู่บ้านโสกม่วง ต.พังทุย กล่าวว่า “ทุนที่หลานได้รับนั้นไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวัน อยากได้เพิ่มอีกในส่วนของค่าเล่าเรียนที่ทางราชการจะช่วย ซึ่งปกติก็ทำงานรับจ้างทั่วไปหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอยู่แล้ว โดยปกติหลานมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนสามพันบาท เฉลี่ยวันละ 100 บาท ส่วนรายจ่ายในครอบครัวก็ออกรับจ้างรายวัน นาน ๆ ครั้งแม่ของน้องจะส่งเงินมาให้แต่ไม่มากนัก อยากให้ทางภาครัฐได้ช่วยอุปถัมภ์ดูแลค่าเล่าเรียนมีทุนจนเรียนจบ”
ดร.ชาญกฤต น้ำใจดี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแนวคิดที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ได้ทุน และยังไม่ได้ทุน กสศ. ว่า “ในส่วนของกองทุน กสศ. ถือว่าเป็นโชคดีของเด็กไทยที่ได้รับอานิสงค์จากรัฐบาลเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง โดยในความคิดของตนเองนั้นคิดว่าประเทศของเรานั้นยังเป็นประเทศที่ยากจน ที่กำลังมีการพัฒนา รวมถึงการพัฒนาทางการศึกษาเนื่องจากประเทศไทยของเรายังมีเด็กที่ยากจนอยู่มากมาย ทำให้เขาขาดโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงในอนาคต ดังนั้นกองทุนนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี”
โดยโรงเรียนที่สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่นเขต 4 ได้กำชับว่า เงินจะต้องตกถึงมือผู้ปกครองของเด็กทุกบาท ทุกสตางค์ ซึ่งผลดีที่เกิดคือ ผู้ปกครองของเด็กสามารถที่จะนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายในการลดภาระเกี่ยวกับด้านการศึกษา เนื่องจากด้านการศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุน เพราะฉะนั้นเด็กจำเป็นจะต้องมีวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะได้นำมาใช้ในการศึกษาเล่าเรียน”
ต่อคำถามที่ว่า “อยากให้มีการขยายจำนวนเงินในกองทุนนี้อย่างไร” ผอ.สพป.ขก.เขต4 กล่าวต่อว่า “ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ การศึกษาทำการขยายเพดานขึ้นมาอีก นอกจากการขยายเพดานของเม็ดเงินแล้ว ยังต้องขยายคนที่มีโอกาสที่จะได้รับเงินในกองทุนนี้อีก อีกทั้งยังให้ภาครัฐได้เข้ามาจัดการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรียนฟรี หมายถึง การเรียนฟรีจะต้องไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เด็กต้องใช้ให้ด้วย”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยว่า ปัญหาการศึกษาไทยเรื่องงบประมาณก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จุดเริ่มต้นไม่ใช่แค่เอาคะแนนของเด็กมาเป็นตัวตั้ง แต่ปัญหาการศึกษาไทยเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กบางคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้เท่ากับเด็กในเมือง ดังนั้นเราต้องขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้ เพราะขณะนี้มีเด็กล้านกว่าคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งตนจะนำเด็กที่หลุดจากระบบให้เข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการอีกทางหนึ่งด้วย
การศึกษา คือการลงทุน ถึงแม้ภาครัฐหลายรัฐบาลจะอ้างว่า “เรียนฟรี” หลักความเป็นจริงไม่ใช่ ดังนั้นหากหลายภาคส่วนเข้ามาจัดการการศึกษาอย่างจริงจัง และเท่าเทียม คำกล่าวที่ว่า “เก่งบ้านนอกไม่เท่ากระจอกในเมือง” คงจะหายไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน
ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ / รายงาน