รมว.ยธ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ประกาศนโยบาย 5 อ. (อาหาร-อาชีพ-โอกาส-อนามัย-อัตลักษณ์) เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกด้าน ไม่เอา 1 อ. คือความอยุติธรรม พร้อม เลขาธิการ ป.ป.ส.ลุยอำเภอนาวัง และอีสานตอนบน ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาผู้เสพที่มีอาการทางจิต
วันที่ 2 ธค.66 ณ ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. นายภิญโญ โฆสิต ผอ.ป.ป.ส.ภาค 4 เดินทางมาตรวจเยี่ยม และปฏิบัติราชการด้านการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด “การใช้นวัตกรรมเพื่อการติดตามดูแลผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต”ในพื้นที่อำเภอนาวัง โดยมี นายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รอง ผวจ.หนองบัวลำภู พ.ต.อ.กริช ปัตลา รอง ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการในระดับจังหวัด อำเภอ พร้อมนายธนายุทธ ใยแก้ว นายอำเภอนาวัง นำกำนัน ผญบ.ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชรบ.ในอำเภอนาวัง ร่วมให้การต้อนรับ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยม และปฏิบัติราชการด้านการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งอำเภอนาวัง ซึ่งมีการใช้นวัตกรรมเพื่อการติดตามดูแลผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าว เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ในการบูรณาการงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเครือข่ายภาคี จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการคุ้ม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอนาวัง จับมือทำงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอนาวัง (พชอ.)
ในขณะเดียวกัน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ประกาศนโยบาย 5 อ. ไม่เอา 1 อ. เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกด้าน โดย อ.ที่ 1 คือคนต้องมีอาหารกิน คนต้องไม่ยากจน อ.ที่ 2 คนต้องมีอาชีพ อ.ที่ 3 ต้องมีอนามัย อ.ที่ 4 คือ โอกาส โอกาสที่เห็นเขาเป็นคนว่าเขาสามารถทำได้ การมีโอกาสทางการศึกษา คือ การเปลี่ยนสถานะคน คือโอกาสอย่างหนึ่ง และ อ.ที่ 5 คือ อัตลักษณ์ คือการเคารพในความแตกต่าง การเคารพในความเชื่อทางศาสนา การเคารพในอุดมการณ์ เราต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ทำให้คนเท่ากับคน และ อ.ที่จะไม่ให้มีเด็ดขาด คือ ความอยุติธรรม
ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอนาวัง ได้มีการปฏิบัติด้วยความเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา และการติดตาม แต่สิ่งที่อำเภอเล็งเห็นว่าเป็นระเบิดเวลาลูกแรกที่พร้อมจะทำลายชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นรวมไปถึงครอบครัวของตน คือ “ผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต” เพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูล เป้าหมาย และกระบวนการ จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยใช้ยุทธการ “นาวังเราครอบครัวเดียวกัน” ออกแบบนวัตกรรมเพื่อการติดตามดูแลผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ ดึงความร่วมมือจากเครือข่ายภาคีและประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างจริงจัง เน้นหลักคิด “ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟู และให้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง
ในขณะที่ นายธนายุทธ ใยแก้ว นายอำเภอนาวัง กล่าวว่าอำเภอนาวังได้ดำเนินการตามมาตการจังหวัดหนองบัวลำภู “จังหวัดต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด ภายใต้ยุทธศาสตร์ เสาหลัก 5 ต้น และ 5 กลยุทธปฏิบัติงานยาเสพติด โดยยึดหลักการว่า“เราเป็นอำเภอเล็กแต่ครอบครัวใหญ่” ซึ่งปฏิเสธเสียมิได้ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรัง ยาวนาน เสมือนเป็นสนิมที่ กัดกร่อนเนื้อในของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน สำหรับยุทธศาสตร์ เสาหลัก 5 ต้นได้แก่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Team Work ชุดปฏิบัติการคุ้ม ชุดข้อมูล Family Folder และ CBTx : ชุมชนบำบัด โดย กลยุทธ์หลักปฏิบัติ ต้องใช้”ใจ”นำการทุ่มเท ใช้หลักเมตตากรุณา แยกปลาออกจากน้ำ เน้น “Work Hard &Work Smart เน้นการทำงานมุ่ง”งานสำเร็จ มิใช่เสร็จ
โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับหมู่บ้าน และลงลึกชัดเจนไปถึง “ระดับคุ้ม” ในการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและ 7 ภาคี เครือข่าย จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการคุ้ม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดเน้นหลักการ “ครบวงจร” และ “ยั่งยืน”
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอนาวัง(ศป.ปส.อ.)ควบคู่กับการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ นาวัง (พชอ.) โดยใช้หลักการขับเคลื่อนด้วยหัวใจ 4 หลัก ได้แก่ โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ต่าง ๆ ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาคนคือการพัฒนารากฐานของประเทศชาติ มองอุปสรรคและปัญหา คือ ปัญญาและโอกาส เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง นายอำเภอนาวัง กล่าวนำเสนอ
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ขตว.หนองบัวลำภู