ประชาชนจาก 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น พร้อมใจกันร่วมรำบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะมีการเปิดงานเทศบาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว
28 พ.ย. 66 ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายพู่กัน ปุริสาย หรือบอย ศิริชัย นางสาวณิชนันทน์ อินทรสอน หรือแอน อรดี คู่รักหมอลำชื่อดัง หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมนางรำกว่า 45,000 คนจาก 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ที่ได้มีการอัญเชิญมาประดิษฐานภายในบริเวณศาลหลักเมือง เนื่องในโอกาสครบรอบ 226 ปี การก่อตั้งเมืองขอนแก่น และเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเริ่มงานเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟพาวเวอร์ ประจำปี 2566 ก่อนพร้อมใจกันรำบวงสรวง โดยรอบบริเวณศาลหลักเมือง โดยในปีนี้ มีจำนวนนางรำมากที่สุดกว่า 45,000 คน พร้อมทั้ง มีนักร้องหมอลำชื่อดัง อย่างบอย ศิริชัย และ แอน อรดี มาร่วม สร้างบรรยากาศสีสันในช่วงรำบวงสรวง โดยมีเหล่าบรรดาแฟนคลับและสื่อมวลชน เฝ้ารอถ่ายภาพ กันอย่างคึกคัก โดยใช้เพลงประกอบการรำจำนวน 5 เพลงคือเพลงขอนแก่นวันนี้ เพลงฟ้อนผูกเสี่ยว สาวอีสานรอรัก เพลงดอกคูณเสียงแคน และฮักสาวขอนแก่น ซึ่งเป็นเพลงประจำจังหวัดขอนแก่นที่บ่งบอกถึงความเป็นคนขอนแก่นรวมทั้งมีท่วงท่าในการรำที่สอดคล้อง กับสัญลักษณ์ของเมืองขอนแก่น ทางไดโนเสาร์ การเป่าแคน การผูกเสี่ยว และยังเป็นเพลงที่มีจังหวะดนตรีสนุกสนานบ่งบอกถึงความเป็นคนขอนแก่น ที่แสดงถึงความเป็นคนที่มีจิตใจดีมีความโอบอ้อมอารีความสนุกสนานร่าเริงของคนอีสาน
และในปีนี้ ได้มีการเปิดเพลงในจังหวะครึกครื้นให้นางรำที่มาร่วมรำบวงสรวงในวันนี้ ได้ร่วมกันฟ้อนรำเข้าจังหวะร่วมกับบอย ศิริชัย และแอน อรดี อย่าง สนุกสนานและเป็นกันเอง ก่อนที่เหล่าบรรดาแฟนคลับจะเข้ามาขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกรวมทั้งขอลายเซ็น ขอจับมือก่อนที่ ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับ
สำหรับ 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จังหวัดขอนแก่นอัญเชิญมาประดิษฐานภายในบริเวณศาลหลักเมืองนั้น ประกอบด้วย 1.พระพุทธอภัยมงคลสมังคี 2. พระพุทธพระลับ 3. พระธาตุขามแก่น 4. เจ้าพ่อมอดินแดง 5. ศาลหลักเมืองขอนแก่น 6. พระนครศรีบริรักษ์ 7. ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ 8. พระพุทธมหาจักรแก่นนคร วัดหนองแวง พระอารามหลวง 9. หลวงพ่อใหญ่ วัดกลาง 10. พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์ วัดป่าแสงอรุณ
นอกจากนี้ การแต่งกายของผู้รำ ยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นได้เป็นอย่างดี คือ นางรำที่เป็นหญิงสวมเสื้อเหลืองดอกคูน ผ้าซิ่นลายมัดหมี่สีเข้ม ห่มทับด้วยสไบ ลาย “แคนแก่นคูน” หรือผ้าขาวม้า ส่วนฝ่ายชายสวมเสื้อเหลืองดอกคูน กางเกงขายาวสีดำ ผูกผ้าคาดเอวลายแคนแก่นคูน หรือผ้าขาวม้า ซึ่งผู้รำทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการฉลองครบรอบ 226 ปี เป็นอย่างมาก