กาฬสินธุ์แฉยับยักยอกเงินชาวบ้าน 30 ล้านใช้เครื่องพิมพ์ดีดปรับสมุดบัญชี
คณะกรรมการกองทุนเงินล้านและสมาชิก กทบ.ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 38 กองทุน กว่า 6,800 คน ตบเท้าแฉพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินที่ยักยอกเงินกู้เกือบ 30 ล้าน ใช้เครื่องพิมพ์ดีดปรับสมุดบัญชีตบตา อ้างเงินเข้าระบบ รอเบิก ก่อนล่องหนทั้งคนทั้งเงิน ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เผย ได้รับแจ้งจากออมสินสาขาใหญ่เตรียมเยียวยาชาวบ้านลูกหนี้ กทบ.แล้ว
จากกรณีชาวบ้าน สมาชิกกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ. จำนวน 38 กองทุน สมาชิก 6,840 คน กำลังได้รับความเดือดร้อน หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สาขากุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่รับผิดชอบกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ.ยักยอกเงินกู้เกือบ 30 ล้านบาท ล่าสุดผู้บริหารธนาคารออมสิน ระดับภาคจากขอนแก่น ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหา จากผู้บริหารสถาบันการเงินดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่ชัดเจน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 1 กันยายน 2566 บรรยากาศตามที่ทำการกองทุนเงินล้าน หรือ กทบ.ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ คณะกรรมการกองทุนและสมาชิก กทบ. ยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิด เพราะตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมาตั้งแต่ปี 2544 สมาชิกกองทุนได้นำเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ จาก กทบ.มาประกอบอาชีพ หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะซื้อปุ๋ยบำรุงต้นข้าวที่กำลังเจริญงอกงามในแปลงนา แต่ปีนี้กลับสะดุด เพราะเงินที่ยื่นกู้กับกองทุนคนละหมื่นสองหมื่น ถูกเจ้าหน้าที่ยักยอกไป จึงไม่มีเงินซื้อปุ๋ยเคมี และหมุนเวียนในการประกอบอาชีพค้าขาย ต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน
นายอนันต์ แย้มสมัย ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแข้หมู่ 15 ในฐานะประธาน กทบ.หนองแข้ หมู่ 15 ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ก่อนทราบเรื่องเงินถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารยักยอกไป ตนพร้อมคณะกรรมการ กทบ.ได้นำสมุดบัญชีเงินฝากกองทุนหมู่บ้านเข้ามาตรวจสอบเมื่อในวันที่ 11 ส.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าเงินในกองทุนหมู่บ้านหนองแข้ หมู่ 15 ที่มีการฝากไว้ 180,000 กว่าบาทเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เหลือเงินในบัญชีเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้ทุกคนรู้สึกตกใจและสงสัยว่า ทำไมเงินที่ฝากไว้หายไป จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ได้คำตอบว่า ที่ชาวบ้านนำเงินมาฝากกับพนักงานคนดังกล่าวที่ยักยอกเงินไปนั้น ไม่ใช่พนักงานของทางธนาคาร แต่เป็นเพียงแม่บ้านของธนาคาร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมึนงง ว่าทำไมที่ผ่านมาเวลาชาวบ้านนำเงินกองทุนไปนำฝากกับทางธนาคาร เจ้าหน้าที่ทางธนาคารจึงให้นำเงินและเอกสารไปยื่นกับแม่บ้านคนนี้ เพื่อตรวจสอบเงินและเอกสาร แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมากับบอกว่าแม่บ้านไม่ใช่พนักงานของทางธนาคาร ทั้งที่ทุกครั้งที่นำเงินไปฝากก็ต้องเอาเอกสารพร้อมกับเงินไปให้แม่บ้านคนนี้ตรวจสอบเหตุ
นายอนันต์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจดูรายการปรับสมุดบัญชี กทบ.ของแต่ละหมู่บ้านยังพบพิรุธ แทนที่จะเป็นรอยพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนปีที่ผ่านมา กลับพบว่าตัวเลขในบัญชีพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด จึงชี้ชัดได้ว่าคนที่ยักยอกเงินไป ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์จำนวนเงินโอนเข้าเพื่อตบตาชาวบ้าน และให้ตายใจว่าเงินเข้าบัญชีแล้ว และให้รอเบิกทีหลัง เพราะตอนนี้เงินในธนาคารยังไม่พอ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ คนๆเดียวคงทำไม่ได้แน่นอน
ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการติดตามและสนับสนุน กทบ.ระดับจังหวัด ทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าว ยักยอกเงินเมื่อวันที่ 4 ส.ค.66 ที่ผ่านมา จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับผู้จัดการธนาคารออมสินสาขากุฉินารายณ์ ทราบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เบื้องต้นได้แนะนำประธาน กทบ.หารือกับทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. สาขา 4 (จ.ร้อยเอ็ด) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เบื้องต้นได้รับการรายงานจากนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ และได้รับการประสานจากผู้บริหารธนาคารออมสินส่วนกลางแล้วว่า จะมีการติดตาม สอบสวน หาผู้กระทำผิดลงโทษตามกฎหมาย ในส่วนความเสียหายต่างๆ ทางธนาคารก็จะเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหลักสุจริต ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าทางธนาคารออมสินสาขาใหญ่และออมสินเขตขอนแก่น ก็จะเดินทางมาพบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ยังได้กำชับพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้อง ประชาชนและกรรมการ ที่มีการรวมตัวกันในลักษณะกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ต่างๆ ได้ร่วมกันสอดส่อง กำกับดูแล เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก