พ่อเมืองหมอแคน ลงลุยสางปัญหากรรมการหมู่บ้านใช้โดรนพ่นยาฆ่าหญ้าบ่อประปาหมู่บ้าน ระดมคณะทำงานทุกภาคส่วนเร่งนำหญ้าขึ้นเร่งด่วน สั่งให้แพทย์ตรวจสุขภาพชาวบ้านที่ใช้น้ำกว่า 500 ครัวเรือน วางมาตรการเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจประชาชนถึงสารเคมีอันตราย กวดขันร้านจำหน่ายยาฆ่าหญ้า คุมผู้ครอบครองโดรนการเกษตรนำมาขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาต
จากเหตุการณ์ คณะกรรมการหมู่บ้านที่ควบคุมดูแลน้ำประปาหมู่บ้าน 5 หมู่ ประกอบด้วย บ้านหนองแสง และบ้านท่ามะเดื่อน้อย ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้ทำประชาคมหมู่บ้านทำการกำจัดวัชพืชในบ่อน้ำดิบ ที่ใช้ผลิตน้ำประปาของหมู่บ้านด้วยการว่าจ้างโดรนเพื่อการเกษตรพ่นยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต และมินูซิน จำนวน 50 ลิตร แทนการใช้เรือกำจัดผักตบชวาที่มีพื้นที่กว่า 70 ไร่ เนื่องจากมีต้นทุนในการกำจัดหญ้าที่ถูกกว่า แต่คาดไม่ถึงว่า สารเคมีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์อันตราย เป็นสารเคมีต้องห้าม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ต้อมาเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม 66 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอน้ำพอง ดร.จารุพงศ์ ประสพสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ผอ.ชลประทานหนองหวาย เกษตรอำเภอน้ำพอง เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม รพ.สต.ท่ากระเสริม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ลงพื้นที่ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวหลังจากลงพื้นที่ทราบถึงสาเหตุในการใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่นลงในบ่อน้ำหนองบึงอ้อ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา หล่อเลี้ยงชาวบ้านกว่า 500 ครัวเรือน ว่าเกตุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้าน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการประชุมประชาคมทั้งหมู่บ้านในการกำจัดวัชพืชในบ่อน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงสารอันตราย พวกเคมีภัณฑ์ จะต้องเร่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ในการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรณรงค์กันมาครั้งหนึ่งแล้ว
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นได้มีแนวทางการแก้ปัญหาคือ ระดมเครื่องจักร รถแบคโฮ รถบรรทุก จากป้องกันภัยจังหวัด (ปภ.), สำนักชลประทานที่ 6, ชลประทานหนองหวาย เรือยนต์จากภาคเอกชน และท้องถิ่น ช่วยกันนำวัชพืชที่ถูกยาฆ่าหญ้าออกให้หมด โดยมอบหมายให้นักวิชาการเกษตร เป็นผู้ควบคุมดูแล เพื่อนำไปกำจัดตามหลักวิชาการ พร้อมกับเก็บ น้ำ ตะกอน ตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ หาสารเคมีที่ตกค้าง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมกันนั้นได้มอบหมายให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริมทำการปักป้ายเป็นเขตควบคุม เนื่องจากมีอันตราย พร้อมกับห้ามใช้น้ำในแห่งนี้อย่างเด็ดขาด
สำหรับพื้นที่ ที่จะนำวัชพืชที่ปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้ไปกำจัด ได้มีผู้ใหญ่บ้านที่มีทีว่างเปล่าอยู่ให้กับแหล่งน้ำ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ ซึ่งจะต้องนำไปจัดเก็บเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ถึงจะทราบผลว่าสารเคมีลดลงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ในการดำเนินการได้สั่งการให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม จัดงบประมาณน้ำมันเชื้อเพลิง และได้รับความร่วมมือจาก ป้องกันภัยจังหวัดขอนแก่น กรมชลประทานที่ 6 นำเครื่องจักมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน
นอกจากนั้นยังได้กำชับไปยังสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลน้ำพอง ทำการตรวจสุขภาพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ที่ใช้น้ำประปาแหล่งนี้ ก่อนที่จะมีการย้ายหัวสูบน้ำไปสูบจากลำน้ำพอง เพื่อทำการผลิตน้ำประปา แทนบ่อที่เปื้อนสารเคมีเหล่านี้ด้วย สำหรับร้านที่จำหน่ายสารเคมี ไกลโฟเซต และมินูซิน จะต้องตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตในการจำหน่ายหรือไม่ พร้อมทั้งผู้ใช้โดรนมาพ่นยา มีอนุญาตหรือไม่ ซึ่งต่อไปนี้จะได้มีการควบคุมผู้ที่มีโดรนเพื่อการเกษตร จะต้องได้รับใบอนุญาต ผ่านการอลบรมจากรมวิชาการเกษตรด้วย โดยจะสั่งการให้แต่ละหมู่บ้านทำการสำรวจลูกบ้านว่ามีผู้ที่ครอบครองโดรนเพื่อการเกษตรจำนวนเท่าใด
จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ได้ประชุมเพื่อทำการมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละส่วนทำการรื้อวัชพืชพิษที่อยู่ในบ่อน้ำ โดยเร็ว ก่อนที่ทางกรมวิชาการเกษตรจะสุ่มกรวดน้ำในแต่จุด เพื่อนำไปตรวจอย่างละเอียดในการหาสารพิษตกค้างในห้องปฏิบัติการ เพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบต่อไป