หนองคาย (ชมคลิป) ชาวบ้านร้องสื่อ ตรวจสอบจุดผ่อนปรนบ้านเปงจาน ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเอื้อประโยชน์ใครแน่

จุดผ่อนปรนผลประโยชน์ทับซ้อน ชาวบ้านร้องสื่อตรวจสอบการเก็บเงินชาวลาว ที่นำสินค้าข้ามมาขายที่บริเวณจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว ชั่วคราว บ้านเปงจาน อำเภอรัตนวาปี


เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา พ.อ.อุดมการณ์ ศรีแขไตร รอง เสธ.กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ และ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่จุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว ชั่วคราว บ้านเปงจาน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ภายหลังที่มีประชาชนในพื้นที่ ร้องเรียนถึงสื่อมวลชนให้ตรวจสอบบุคคลแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐเดินเก็บเงินจากคนลาวที่ข้ามโขงนำสินค้ามาขายที่ตลาดนัดจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว ชั่วคราว บ้านเปงจาน ต.โพนแพง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
จุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว ชั่วคราว บ้านเปงจาน เปิดระหว่างบ้านเปงจาน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย กับบ้านทวยเมืองท่าพระบาด แขวงบ่ลิคำไซ สปป.ลาว ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย เปิดให้เป็นด่านประเพณี มีชาวลาว ข้ามมาจับจ่ายซื้อของ แลกเปลี่ยนซื้อขาย ไม่มีค่าหัวเรียกเก็บเป็นราย แต่มีค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ในการเดินทางเข้า-ออก ทั้งสองฝ่าย ตามอัตราที่กำหนดตามระเบียบของแต่ละประเทศ จัดทำเอกสารผ่านแดน ตรวจสอบข้อมูล การเดินทางเข้าออก ป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งรายได้เข้ารัฐ รวมถึงจัดเก็บค่าวางจำหน่ายสินค้า ที่มีใบเสร็จเรียกเก็บเงินถูกต้องตามระเบียบ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีประชาชนในพื้นที่ ทำหนังสือถึงสื่อมวลชนให้ตรวจสอบตลาดนัดจุดผ่อนปรน ไทย-ลาว บ้านเปงจาน ต.โพนแพง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดำเนินการจัดพื้นที่ให้เป็นสองส่วน แยกออกจากพื้นที่ตลาดนัดจุดผ่อนปรน ไทย-ลาว คือพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นถนนคอนกรีตและพื้นที่ตลาดเดิมบางส่วน ทำเป็นที่วางแผงลอยเพื่อให้ชาวลาว ที่ข้ามนำสินค้ามาวางจำหน่าย จากนั้นได้มีชายแต่งกายคล้าย เจ้าหน้าที่รัฐ เดินเก็บเงินโดยไม่มีบิลให้ โดยผู้ที่ร้องสงสัยว่าเงินที่จัดเก็บนั้น ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เก็บแล้วนำไปใหน ให้ใคร เข้าหน่วยงานรัฐหรือไม่ สำหรับพื้นที่ที่สองอยู่ติดกับพื้นที่แรกเป็นพื้นที่ตลาดนัดจุดผ่อนปรนฯ ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง ประมาณ 10 กว่าเมตร เป็นพื้นที่ซึ่ง อบต.โพนแพง ได้เช่ากับนิคมสร้างตนเองโพนพิสัย เพื่อเปิดเป็นตลาดนัดจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว และรับผิดชอบ จัดเก็บรายได้จากพ่อค้าทั่วไปที่นำสินค้ามาวางจำหน่าย เพื่อนำเงินที่ได้เข้าเป็นรายได้ของ อบต.


ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาสื่อได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่า บริเวณตลาดนัดจุดผ่อนปรนฯ เป็นพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัย มีเนื้อที่ 8-2-20 ไร่ ได้ให้ อบต.โพนแพง เช่าพื้นที่ในการเปิดเป็นตลาดนัดจุดผ่อนปรน ฯ เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทย และ ลาว นำสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรมาวางจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการขอต่อสัญญาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ซึ่งทาง อบต.โพนแพง ได้ขอใช้พื้นที่เพิ่มเติม จากเดิม เป็น 9-2-52.25 ไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด
ปัจจุบันเกิดปัญหาผู้ร้องเชื่อว่ามีการทุจริตในการเรียกเก็บเงินจากชาวลาว ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน และผู้มีอิทธิพล ฉวยโอกาสเรียกรับผลประโยชน์ จากสถนการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา จุดผ่อนปรนฯได้ปิดชั่วคราว นานกว่า 2 ปี ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งในปัจจุบัน หลังมีการผ่อนคลาย ทำให้การค้าขายกลับมาเหมือนเดิม ถือเป็นเรื่องดี ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงชาวลาวมีรายได้ แต่กลับมี กลุ่มบุคคล ที่อ้างหน่วยงานรัฐ มีการฉวยโอกาสมาเรียกรับเงินจาก บรรดาพ่อค้า แม่ค้าชาวลาว ที่ข้ามมาติดต่อซื้อขายฝั่งไทย เย้ยกฎหมาย มีการเรียกเก็บกว่า 400-500 คน ของวันเปิดจุดผ่อนปรนฯ เชื่อว่าเป็นการทุจริตในจุดผ่อนปรนฯ ถือว่าผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทย

และในบริเวณจุดผ่อนปรนฯ พบป้ายไวนิลขนาดใหญ่ มีข้อความประกาศของอำเภอรัตนวาปี เรื่อง ระเบียบควบคุมสินค้าจุดผ่อนปรนการค้าบ้านเปงจาน ตำบลโพนแพง อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย กำหนดสินค้าต้องห้ามและอนุญาตเข้า-ออก ราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน 2565 ติดตั้งไว้ที่บริเวณริมฝั่งทางลงแม่น้ำโขงพบว่ารายการที่ 8.พันธุ์พืชทางการเกษตร อนุญาต ต้นกล้าหรือพันธุ์พืชตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 พันธุ์พืชต้องห้าม คือ 1.ทุเรียน 2.ส้มโอ 3.องุ่น 4.ลำไย 5.ลิ้นจี่ 6.มะขาม 7.มะพร้าว 8.กราวเครือ 9.ทองเครือ 10.สละ 11.สับปะรด 12.ยางพารา 13.ปาล์มน้ำมัน แต่ปรากฎว่าให้นำออกได้ ไม่เกิน 10 ต้นกล้า หรือไม่เกิน 30 กิโลกรัม/1 คน/วัน ร้านประกอบการจำหน่ายไม่เกิน 100 ต้นกล้า หรือไม่เกิน 300 กิโลกรัม/1 ร้านประกอบการ/วัน/ใบสั่ง ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 มาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกซึ่งพืชสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลอง หรือวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น พืชสงวน11 ชนิด ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 คือ ทุเรียน ส้มโอ องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะพร้าว กวาวเครือ ทองเครือ สละ และสับปะรด แต่จุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาวชั่วคราว บ้านเปงจาน กลับมีประกาศอนุญาตให้นำออกไปได้


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา สื่อได้ลงพื้นที่อีกครั้ง ทราบว่า การเก็บเงินนั้น เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษา ค่าพิธีการ ค่าเอกสาร ค่าธุรการต่าง ๆ ค่าทำความสะอาด เนื่องจากจุดผ่อนปรนฯไม่มีงบประมาณเป็นของตัวเอง และได้มีการตั้งตู้รับบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์ ไว้ที่จุดผ่อนปรน เพื่อให้ผู้ที่มาติดต่อหรือมีสินค้าเข้ามา ได้หย่อนเงินลงตู้ เงินที่ได้นำเข้าอำเภอ ซึ่งนายอำเภอ หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์การเป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบ การเก็บเงินจะมีสองส่วน คือในส่วนที่หนึ่งคือพื้นที่ซึ่งเป็นของกรมเจ้าท่า(พื้นที่ความมั่นคง) ส่วนที่สองพื้นที่บริเวณจุดผ่อนปรนฯ ที่ อบต.โพนแพง เช่ากับ นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย อบต.เป็นผู้จัดเก็บเอง


จากที่เคยผ่านมาหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้จัดระเบียบ ให้กระจายพ่อค้าแม่ค้า วางขายสินค้าที่บริเวณตลาดนัดจุดผ่อนปรนฯ ที่มีการจัดระเบียบ กำหนดจุดวางขายเอาไว้ แต่เมื่อมีการจัดระเบียบใหม่ เกิดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างพ่อค้า แม่ค้า ไม่เป็นธรรมกับพ่อค้าแม่ค้า ที่สำคัญยังมีการวางจุดเข้า ออกสินค้า ไว้บริเวณจุดเดียวกัน ทั้งที่ตามระเบียบศุลกากร รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง จะต้องแยกชัดเจน เพื่อสะดวกในการตรวจสอบคัดกรองของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ป้องกันการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย โดยการดำเนินการดังกล่าวถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบหน่วยงานความมั่นคง มีการนำสินค้าเข้ามาโดยไม่มีการเข้มงวดตรวจสอบ เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายพันธลภ แสงทอง /นายโภควินทร์ นันทจันทร์ จังหวัดหนองคาย