กาฬสินธุ์-เหม็นขี้หมูกับหนี้ก้อนโต ทนายยุติธรรมเตรียมยื่นมือช่วยผู้เลี้ยงหมู

เหม็นขี้หมูกับหนี้ก้อนโต ทนายยุติธรรมเตรียมยื่นมือช่วยผู้เลี้ยงหมู ระบุเอกชนต้องร่วมแก้ไขเพราะหนี้ก้อนโต

ผลกระทบจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน บ่อเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนจนเป็นโรคปวดหัวปวดประสาท ไปรอบทิศทาง ส่งกลิ่นเหม็นลามเป็นไฟลามทุ่ง ล่าสุด! ทนายความประจำสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ สะกิดต้นตอปัญหามาจากนายทุน “ปกปิด” ข้อเท็จจริง ชวนชาวบ้านร่วมลงทุนกู้เงิน ธกส. จนเป็นเหยื่อ ในรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา” ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยง แต่ “สภาพจริง” รับภาระหนี้ก้อนโต ชี้เป็นพิรุธ ขอความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเชิงลึกในสัญญา ก่อนที่ชาวบ้านจะรับภาระหนี้เพิ่มมากกว่านี้

จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ขณะที่นายอำเภอสหัสขันธ์เรียกทุกภาคส่วน ร่วมประชุมหาทางออก เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบภายใน 2 เดือน และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานกฎหมาย บ้านทนายความกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ แสงสิริวัฒนะ ทนายความประจำสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ 2 ส่วน ทั้งส่วนตัวเกษตรกรพันธสัญญาและชาวบ้านในชุมชน อย่างไรก็ตาม ในการทำสัญญาระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง หรือระบบเกษตรพันธสัญญานั้น เอกชนที่จะทำสัญญากับชาวบ้านจะต้องนำร่างสัญญามาให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร


นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า จากปัญหาฟาร์มเลี้ยงหมูของเอกชน ส่งกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่ ต.สหัสขันธ์ และ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งหลายภาคส่วนตามที่ทราบกันดี คือฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะนั้น รวมทั้งในส่วนการติดตั้งม่านน้ำ ใช้สารจุลินทรีย์ดับกลิ่น และจัดทำบ่อบำบัดใหม่ เป็นภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งนั้น และยังจะต้องไปขอกู้เงินเพิ่มจาก ธกส.อีกด้วย โดยส่วนตัวมองว่าชาวบ้านหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่รู้ๆกันโดยทั่วไปว่าในฐานะ “ผู้รับจ้างเลี้ยง” ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะตามความหมายผู้รับจ้างเลี้ยงนั้น ไม่ใช้ผู้ที่จะต้องออกค่าดำเนินการใดๆในขณะที่มีสถานะเป็นผู้รับจ้างเลี้ยง


นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่พูดแบบไม่ได้เห็นรายละเอียดในสัญญา แต่หากมีระบุในสัญญาจริง เชื่อว่าชาวบ้านที่ร่วมโครงการเลี้ยงหมูคงจะไม่ยินยอม ที่จะเป็นฝ่ายรับภาระในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างที่เกิดขึ้น อีกทั้งเอกชนที่เข้ามาให้การส่งเสริมเลี้ยงหมู ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า การเลี้ยงหมูนั้น จะต้องมีการบริหารจัดการในฟาร์มในขณะเลี้ยงยังไง มีการทำแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน อย่างไร ซึ่งทางบริษัทจะต้องเป็นฝ่ายจัดการเอง โดยมีนักจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทมากำกับดูแล


“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยฟาร์มหมูมีกลิ่นเหม็น มีชาวบ้านผู้เดือดร้อนร้องเรียน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องแก้ไขปัญหาเอง เช่น กู้เงินเพิ่มมาทำบ่อบำบัด ตนมองว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มีพิรุธ บริษัทเอกชนปกปิดชาวบ้านมาตั้งแต่แรก หรือหากมีระบุในสัญญาก็เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือคู่ทำสัญญา ในฐานะทนายความประจำสำนักงานยุติธรรมฯ ที่ไม่อยากเห็นชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงขอความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบเชิงลึกสัญญาตัวนี้ด้วย ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปไกล และชาวบ้านผู้เลี้ยงหมูต้องแบกรับภาระหนี้สินมากกว่านี้ เพราะดูๆแล้วตกเป็นลูกหนี้ ธกส.รายละ 6-7 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องเลี้ยงหมูไปอีกกี่รุ่นกี่ปี ถึงจะปลดหนี้ได้ ทั้งนี้ สำหรับสำเนาคู่ฉบับเกษตรพันธสัญญาตัวนี้ คาดว่าน่าจะอยู่ในหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นายสุวิทย์กล่าว

ชาวบ้าน

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.