วันที่ 19พ.ค.66 เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายไพโรจน์ เตชะเจริญสุขจิระ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 2 สำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน ดร.อิสเรศณุชิตภ์ จันทร์ศรี รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ร่วมประชุมที่ห้องประชุมฟ้าหลวง 5 โรงแรมนภาลัย อุดรธานี
กรมชลประทาน มีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาลุ่มน้ำห้วยหลวงอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสภาพื้นที่และระบบลำน้ำ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียงและระบบลุ่มน้ำหลัก จำเป็นต้องใช้ระบบบริหารจัดการที่สามารถบูรณาการทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดำเนินการ กรมชลประทานได้มีการดำเนินการศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2558 และในการประชุมร่วมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เมื่อปี 2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทานไปเร่งรัดดำเนินการ
โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี ได้มีการดำเนินการศึกษาจัดทำแผนหลัก และสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน 4 โครงการ และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้ศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี เพิ่มเติม
จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการที่มีความเร่งด่วน จำนวน 5 โครงการ เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนสนองต่อการพัฒนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ในการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการสำเนอสรุปผลการศึกษาแผนหลัก และศึกษาความเหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อนำไปสู่การพัฒนารายละเอียดการศึกษาที่สมบูรณ์และครบถ้วนมากยิ่งขึ้น