เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดขอนแก่นแบบบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ด้วยการทำฝายหินทิ้งกั้นแม่น้ำชี เพื่อให้มีน้ำในช่วงหน้าแล้ง
17 พ.ค.66 ที่บริเวณท่าสูบน้ำท่าหนองแดง บ้านท่านางแนวหมู่ 2 ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เข้าตรวจฝายแกนดิน หลังจากได้มีการก่อสร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำชี เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระจังหวัดขอนแก่น ว่า สืบเนื่องจากการที่มีข้อมูลจากหลายแห่งโดยเฉพาะนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ กำลังจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้น Super เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาวะแล้งติดต่อกัน 3-5 ปี ดังนั้น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีน้ำโดยเฉพาะน้ำท่า ปีละ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ เลย เพชรบูรณ์ อีกประมาณ 3,000 กว่าล้าน รวมเป็น 6,000 กว่าล้าน แต่สามารถจัดเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ได้ ประมาณ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการน้ำโดยบริหารจัดการร่วมกันทั้งคณะสงฆ์ ภาคเอกชน หอการค้าสภาอุตสาหกรรม ที่จะช่วยกัน ในการเตรียมรับมือ กับภาวะ เอลนีโญ ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะน้ำคือชีวิต หากขาดน้ำจะส่งผลกระทบทั้งในเรื่องของการลงทุน การท่องเที่ยว เรื่องของการลงทุน เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ทุกระบบ ซึ่งเรื่องน้ำถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งตัวอย่างที่นำเสนอในครั้งนี้คือ การสร้างฝายแกนดินเหนียว ที่สามารถทำได้ ในระยะเวลาอันสั้นและมีต้นทุนไม่มากนัก สามารถทำได้ในระยะเวลาจำกัด เพียง 1 สัปดาห์ ที่จะกักเก็บน้ำได้ถึง 900,000 ลบ.ม. คิดเป็นต้นทุนโดยเฉลี่ย 3 สตางค์/ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าในแง่ของการลงทุน ซึ่งเมื่อมีน้ำแล้วจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อพืช คน สัตว์ สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะในเรื่องสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ยังได้เปิดเผยถึง การพยากรณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นด้วยว่า จากข้อมูลสถิติตัวเลขปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง คือ มีค่าเฉลี่ยฝนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปกติ จะอยู่ที่ 158 มม. แต่ในปี 2566 ช่วง 4 เดือน มีปริมาณฝนตกเพียง 91 มม. ซึ่งพายุฤดูร้อนในช่วงที่ผ่านมาจะมีเพียงลม แต่ไม่มีฝน และพายุที่ทำให้เกิดฝนตกล่าสุดคือ โมค่า เท่านั้น ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่มีฝนตกน้อยและได้ปริมาณน้ำน้อย หรือ การเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน และมีปริมาณฝนไม่มาก เมื่อฝนมาต้องรีบกักเก็บน้ำ โดยต่อจากนี้ไปเมื่อมีน้ำมาในปริมาณมาก จะต้องรีบจัดเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด หรือเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมก็จะท่วมในปริมาณที่ไม่มาก เป็นการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ การมีฝายชะลอน้ำบนเขา ตามลำห้วยต่างๆ ต้องมีฝายขั้นบันได การมีแหล่งน้ำสำรอง แหล่งน้ำของทางราชการ เช่น ชลประทาน ที่มีสภาพตื้นเขิน จะดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน ในทุกมิติ ทั้งน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ที่จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย รวมถึงคณะสงฆ์และภาคเอกชน เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นคงของน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้
“ยืนยันว่า จังหวัดขอนแก่นไม่ได้แล้ง เพียงแต่ขาดในเรื่องของการบริหารจัดการ ขาดการหาสถานที่ให้น้ำอยู่ เมื่อสามารถ ทำได้ตามแผนที่วางไว้จะส่งผลต่อความเจริญอย่างยั่งยืนของจังหวัดขอนแก่น ได้แน่นอน”