ขอนแก่น – มข. มอบแบบจำลอง AI ภาพเสมือน ชูสถาปัตยกรรมเปือยน้อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ส่งมอบแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้แก่ นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอเปือยน้อย นายสิทธิชัย อินทุประภา รองผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น ณ ปราสาทเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น

สำหรับโครงการ การพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2564-2565 เป็นการดำเนินงานโดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ สถาบันการสอนวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับสนับสนุนงบประมาณโครงการจาก ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์  เพื่อสร้างแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบทพื้นที่จังหวัดของแก่น  และ  เพื่อพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบทพื้นที่จังหวัดของแก่น ในรูปแบบภาพสามมิติ วีดีโอและแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

อ.ดร.ฮาวา วงศ์พงษ์คำ  เจ้าของโครงการการพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมศาสนสถานในอารยธรรมขอมบนพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เปิดเผยว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ คือ ต้องการที่จะทำประโยชน์ต่อชุมชน เนื่องจากตนเองมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม และ ได้เรียนต่อยอดที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ได้รู้ว่าพื้นถิ่นมันมีความสำคัญ

“เราเลือกศึกษาปราสาทขอม เพราะว่าเป็นสิ่งที่คงทน สะท้อนวิธีคิดของคนในสมัยนั้น ประกอบกับ เราอยากจะให้ชุมชนเห็นว่าก่อนที่จะพังเมื่อ 2000 ปีก่อน สิ่งปลูกสร้างนี้มีลักษณะอย่างไร  เราจึงนำนวัตกรรม เข้ามาบวกกับองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น กรมศิลป์ จากท่านนักวิชาการต่างๆ ต่อจากนั้นก็นำไปเปรียบเทียบ เทียบเคียง ปราสาทเปือยน้อย ที่สร้างสมัยศิลปะบาปวน เทียบเคียงกับในยุคสมัยใกล้เคียงกัน เมืองต่ำบ้าง เป็นของพนมรุ้งบ้าง  แล้วจึงเกิดแบบสันนิษฐานนี้ขึ้นมา โดยที่เราก็จะได้เป็น Application เป็นสารคดี โดยการซ้อนของ Metaverse ซ้อนภาพสามมิติเข้าไป ซึ่ง นักท่องเที่ยว ผู้สนใจสามารถชมแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรมปราสาทเปือยน้อย พร้อมถ่ายรูปตนเองพร้อมปราสาทจำลองเสมือนได้ โดยการใช้Application สแกนคิวอาร์โค้ด ณ บริเวณนี้ ”

อ.ดร.ฮาวา วงศ์พงษ์คำ  กล่าวต่อไปว่า “ความสนุกของการทำ Project นี้ เป็นความสนุกบวกกับความภาคภูมิใจ เพราะว่า เราได้ร่วมงานกับชาวอำเภอเปือยน้อย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก ทั้งผู้นำชุมชน ท่านผู้ว่า ท่านนายอำเภอ ท่านปลัด กลุ่มชาวบ้าน และ กลุ่มเล็กๆที่รักปราสาทเปือยน้อย ที่เขาทำเพจ มันเป็นความสนุกที่เราได้อยู่กับชุมชน และการทำงานวิจัย เป็นการนำความรู้ของเราไปทำในสิ่งที่เขาต้องการ  มันจึงเป็นทั้งความสนุกกับความสุขในเวลาเดียวกัน งานวิจัยครั้งนี้ที่เราส่งมอบแล้วจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะเราจะพัฒนาเป็นงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่กำลังทำอยู่ เป็นภาพสันนิษฐาน การฉายแสง Scale จริง 1 ต่อ 1 ซึ่งจะทำให้ผู้ชม ได้รู้ว่าของจริงยิ่งใหญ่ขนาดไหน โดยแสดงในเดือนเมษายนนี้ ในงานบุญบวงสรวงของปราสาทเปือยน้อย ฉะนั้นปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่งานบวงสรวงที่มีงานแบบภาพสันนิษฐานเป็น Background ข้างหลังซึ่งมันเป็นปีแรกของภาคอีสาน” อ.ดร.ฮาวา กล่าว

นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอเปือยน้อย เปิดเผยว่า อำเภอเปือยน้อยโชคดีมีโบราณสถานที่ถือว่าเป็นต้นทุนของพื้นที่ จากที่เรามีของดีของเด่นเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เราจึงคิดต่อยอดว่าทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านของเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือแม้แต่ศิลปวัฒนธรรม

“โครงการการพัฒนาแบบจำลองเสมือนของสถาปัตยกรรม ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ ผมดูแล้วชื่นชม อย่างน้อยๆ สามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับพี่น้องประชาชน ในการที่เข้ามารับรู้ ตัวปราสาท ถ้าสมบูรณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือ เป็นกิจกรรมนึงที่เราจะจัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อที่จะเสริมการพัฒนาชุมชนต่อไป”