หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น หันมาจับอาชีพสานแหจับปลาจำหน่ายกันทั้งหมู่บ้าน สร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัว เดือนละ 20,000 – 30,000 บาท โดยใช้พื้นที่หน้าบ้านที่อยู่ติดกับถนนเชื่อมต่อระหว่างอำเภอนั่งสานและห้อยขายให้กับลูกค้าที่สัญจรผ่านไปมา และขายทางออนไลน์ส่งทั่วไทย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านสานแห
วันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ร้านกุหลาบแหอวน ตั้งอยู่เลขที่ 203 บ้านโคกสูง หมู่ที่ 4 ต.บ้านหว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น สองสามีภรรยาเจ้าของร้าน กำลังเร่งมือช่วยกันสานแหตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ที่ได้โทรศัพท์ติดต่อมาให้ทางร้านผลิตแหจับปลาให้ เพื่อนำไปเป็นของฝากให้กับญาติ ๆ และนำไปไว้สำหรับจับปลา ทำให้เจ้าของร้านต้องเร่งมือสานแหตามออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามาจำนวนมาก
โดยร้านกุหลาบแหอวนร้านนี้ เป็นเพียงหนึ่งในร้านที่รับผลิตและจำหน่ายแหจับปลาของบ้านโคกสูง ที่คนในหมู่บ้านกว่า 200 หลังคาเรือน ได้หันมายึดอาชีพการสานแหจับปลาเพื่อจำหน่ายมานานกว่า 30 ปี ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ ถูกขนานนามว่า “หมู่บ้านสานแห”
เนื่องจากตลอดสองข้างทางของถนนเหล่านาดี ที่ตัดผ่านหมู่บ้าน และเป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอเมืองขอนแก่น – อำเภอมัญจาคีรี หากใครที่ขับรถผ่านไปมา ก็จะเห็นภาพของแหจับปลาจำนวนมาก ถูกนำมาห้อยไว้ที่หน้าบ้าน ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา โดยเฉพาะชาวบ้านที่ชื่นชอบการจับปลา ก็จะจอดรถแวะซื้อกลับไปคนละผืนสองผืน สร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 บาท
โดยมีทั้งแหที่ทำจากเชือกเอ็นเกลียวอย่างดี และทำจากด้ายคุณภาพดี ทน และแข็งแรง รับทำตามสั่ง ทั้งแบบเพลาลึก ลูกหนัก-เบา ตามความต้องการของลูกค้า ขนาดความถี่ของตาแหเริ่มตั้งแต่ 2 เซ็นติเมตร ไปจนถึง 10 เซนติเมตร ทำขนาดความยาวได้สูงสุดถึง 16 ศอก เวลาทอดแหทำให้ทอด (หว่าน) ดี ทอด (หว่าน) เเตกทุกผืน
นอกจากลูกค้าจะสามารถมาเลือกซื้อที่ร้านได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ทางช่องทางเพจเฟซบุ๊กโดยพิมพ์ค้นหาชื่อร้าน มีบริการเก็บเงินปลายทาง จัดส่งทั่วประเทศ ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับขนาด และวัสดุที่ใช้ในการสาน
นางกุหลาบ คำหงษา อายุ 51 ปี เจ้าของร้านกุหลาบแหอวน เล่าว่า ก่อนที่ตนเองและสามีจะมายึดอาชีพสานแหขายโดยการเปิดร้านเป็นของตนเอง ก็เคยเป็นลูกจ้างรับสานแหให้กับคนอื่นมาก่อน เมื่อเกิดความชำนาญและเห็นว่า แหจับปลามีลูกค้าทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงสนใจซื้อไปใช้มากขึ้น จึงตัดสินใจมาเปิดร้านผลิตและจำหน่ายด้วยตนเอง โดยแต่ละวันก็จะช่วยกันกับสามีสานแหจับปลาตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นแหต่อ ที่นำเอาตาขายสำเร็จรูปแต่ละขนาด มาทักทอหรือสานให้เป็นผืนเดียวกัน รวมทั้งสานแหจับปลาแต่ละขนาดเอาไว้ เพื่อให้ลูกค้าที่ผ่านไปมาได้เลือกซื้อ แต่ละวันสามารถจำหน่ายได้ประมาณ 5 – 6 ผืน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาเป็นปกติ เช่น การลงแขกจับปลาตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ต้องใช้แห ก็ทำให้มีชาวบ้านเดินทางมาเลือกซื้อแหไปไว้หว่านจับปลามากขึ้น ทำให้ครอบครัวของตนเองมีรายได้มากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้นตามไปด้วย
เช่นเดียวกันกับที่ร้านแม่อ้อย แหหมาน ตั้งอยู่เลขที่ 147 บ้านโคกสูง หมู่ที่ 4ต.บ้านหว้า อ.เมืองขอนแก่น นางนิภา สุดจันฮาม อายุ 60 ปี และลูกๆ ก็กำลังช่วยกันสานแหจับปลา เพื่อส่งให้ลูกค้าต่างจังหวัด พร้อมกับการรับลูกค้าที่เดินทางมาเลือกซื้อแหจับปลาที่ร้าน โดยร้านนี้จะเน้นแหที่มีสีสันหลากหลาย เพื่อดึงดูดลูกค้า มีทั้งแหที่ทำจากด้ายและเชือกเอ็นคุณภาพดี มีให้เลือกหลายขนาด ทั้งตาถี่และตาห่าง
นางนิภา บอกว่า ตนเองทำอาชีพสานแหจับปลามานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยแต่ละวันจะมีลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาสอบถามและสั่งซื้อไม่ขาดสาย และที่ร้านของตนเองก็เป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องแหคุณภาพดี คงทน แข็งแรง เมื่อชาวบ้านซื้อไปใช้ ก็จะติดใจและบอกต่อๆ กัน เพราะแหที่ร้านหวานแตก หากหว่านไม่แตกทางร้านรับประกันเปลี่ยนผืนใหม่ให้ จึงทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพ และติดต่อมาให้ผลิต ซึ่งทางร้านก็มีการขายทางออนไลน์ และจัดส่งทั่วประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ค “แม่อ้อยแหอวน แหตามสั่ง ขอนเเก่น” หรือ โทรสอบถามได้ที่เบอร์ 082-3355312