เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงการป้องกันไฟป่า หมอกควัน จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงนามข้อตกลงความ ร่วมมือ (MOU) ประกาศนโยบายจังหวัดอุบลราชธานี เป็น “จังหวัดปลอดการเผา” และประกาศให้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นวาระของจังหวัด เพื่อบูรณาการสร้างความร่วมมือในการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในทุกมิติ เชื่อมโยงทุกระดับ ทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
จากสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน และถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติและนโยบายสำคัญด้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล โดยมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะการเผาป่า และพื้นที่เกษตร การจราจรขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ข้อตกลงความร่วมมือ “จังหวัดปลอดการเผา” และประกาศให้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 เป็นวาระของจังหวัด กำหนดเป็น 10 โดยมีมาตรการ ดังนี้
1. ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันงดการเผาในที่โล่งทุกกรณี 2. ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ ทำหน้าที่ Single Command สั่งการ กำกับ ดูแล หน่วยงาน องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ สอดส่อง เฝ้าระวัง และควบคุมไม่ให้มีการเผาทุกชนิด 3. พื้นที่เกษตรกรรม ให้มีการรณรงค์การไถกลบตอซัง ลดปริมาณเชื้อเพลิง ส่งเสริมการแปรรูปเศษวัสดุ เช่น ทำปุ๋ย เห็ดฟาง อัดก้อนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และ จัดอาสาสมัครเฝ้าระวังการลักลอบเผาในพื้นที่เกษตร 4. พื้นที่ชุมชน/เมือง กำหนดกติกาชุมชน โดยใช้กลไกประชารัฐในการป้องกันและเฝ้าระวังการเผา จัดชุดปฏิบัติการประจำตำบล/หมู่บ้านควบคุมและป้องกันไฟ 5. พื้นที่ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ จัดกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่าและจัดทำ แนวกันไฟ รวมถึงกำหนดกติกาชุมชนห้ามเผาป่า และประกาศเขตพื้นที่ห้ามเผา 6. พื้นที่ริมทาง ตัดหญ้าและกำจัดเศษวัสดุและใบไม้แห้งพื้นที่ริมทางสำหรับเป็นแนวกันไฟ จัดกำลัง ลาดตระเวนและเฝ้าระวังการเผา 7. ติดตามควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และควันดำ ส่งเสริม ภาคอุตสาหกรรรมให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรวจตราควบคุมการปล่อยมลพิษ และการบำบัดของเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
8. รณรงค์สร้างความตระหนัก ผลกระทบจากไฟป่า และหมอกควัน รวมถึงมาตรการห้ามเผาป่าและ พื้นที่การเกษตร ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมป้องกันไฟป่าและหมอกควัน 9. บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จับกุมดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง 10. จิตอาสาประชารัฐ โดย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชน ร่วมกำหนดกติกาชุมชน ห้ามเผา จัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาไฟป่า และบูรณาการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น ละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ปรากฏเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม (หน้าแล้ง) โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมพบว่ามีจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่น เกินค่ามาตรฐานมากที่สุด เฉลี่ย 37 วัน/ปี
ภาพ/ข่าว : ยงยุทธ ผูกพันธ์ อุบลราชธานี