กาฬสินธุ์ (ชมคลิป) เขื่อนลำปาวกระจายน้ำช่วยนาปรัง-บ่อกุ้งฤดูหนาวอากาศแปรปรวน

 


ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวยืนยันปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มากกว่า 78% สามารถระบายสู่พื้นที่ใต้เขื่อน สำหรับการใช้สอยทุกกิจกรรม โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร พร้อมส่งน้ำช่วยเกษตรกรทำนาปรัง และเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่ระบายน้ำเข้าถึงทุกแปลงในช่วงอากาศหนาวแปรปรวนและช่วงฤดูแล้งได้ใช้น้ำอย่างครอบคลุม ทั่วถึงและเพียงพอ


วันที่ 30 มกราคม 2566 ที่บริเวณอาคารระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำปาว นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พร้อมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ หลังได้ทำการระบายน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งอย่างเต็มระบบ ทั้งคลองฝั่งขวาและฝั่งซ้ายมาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยระบายน้ำวันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเกษตรกรทำนาปรัง และเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่ในช่วงอากาศหนาวแปรปรวน พร้อมระบุว่าปริมาณน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 78% หรือ 1,539 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่ามีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา ในฤดูแล้งปีนี้จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้สอยทุกกิจกรรม
นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า หลังจากประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำปาว ในฤดูแล้งนี้ทางโครงการฯ ได้ทำการระบายน้ำอย่างเต็มระบบเพื่อกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร ให้เกษตรกรในเขตใช้น้ำชลประทาน ได้มีการประกอบอาชีพทำนาปรัง เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และเลี้ยงปลาอย่างทั่วถึง


นายสำรวย กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวที่มากพอดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้เกษตรกร ทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังอย่างเต็มที่กว่า 290,000 ไร่แล้ว ยังส่งน้ำช่วยการเปลี่ยนถ่ายในบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในช่วงอากาศหนาวแปรปรวนสลับร้อนที่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ซึ่งทราบว่ามีอยู่กว่า 1,200 บ่อ ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ยางตลาด รวมทั้งการประมงบ่อปลาอย่างเพียงพอ เพื่อเร่งผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงแล้ว นอกจากนี้ยังสนับสนุนพื้นที่ด้านล่างในเขต จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร อย่างบริบูรณ์อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ก็ยังจะฝากไปถึงเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีวินัยในการใช้น้ำ รู้จักแบ่งปัน ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งหมั่นสำรวจความมั่นคง ความสะอาดของคูคลอง เพื่อให้การสัญจรของน้ำไหลสะดวก และเพื่อที่จะไม่เกิดความเสียหายกับคูคลอง รวมทั้งพืชผล และบ่อกุ้งบ่อปลาด้วย