เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ สภ.เขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ผู้เสียหายรวม 12 ราย นำโดยนางสาวเกวลิน มงคลชัยฤกษ์ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 20 ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้ประสานมายัง พ.ต.อ.ชัยกฤต โชติวรรณ ผกก.สภ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี และได้รวมตัวกันเข้าแจ้งความในข้อหา “ฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม”หลังจากถูกนางสาวชัชวาล (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนแห่งหนึ่ง ปลอมแปลงเอกสารของทางราชการลงนามโดยนายอำเภอ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ อ้างโครงการ” โคก หนอง นา โมเดล ” โดยมีการขอเบิกเงินในการดำเนินการล่วงหน้า4,480,434 บาท แต่ภายหลังยอมรับว่าทำเอกสารทางราชการปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงจริง และไม่มีการชดใช้เงินคืนให้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจัดพนักงานสอบสวนหลายนายในการสอบปากคำผู้เสียหาย บางรายได้รับผลกระทบหนักเนื่องจากมีหนี้สินติดตัวจากการถูกหลอกในครั้งนี้จากการสอบสวนผู้เสียหายทั้งหมดให้การว่าได้รับการติดต่อจากนางสาวชัชวาล (สงวนนามสกุล) ได้นำหนังสือที่อบ.0019/1023 ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 เรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ” โคก หนอง นา โมเดล ” กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลงนามโดย นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปฎิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หนังสือระบุว่าจังหวัดได้แจ้งอนุมัติโครงการดังกล่าว ประจำปี 2565 (งบเหลือจ่าย) โดยให้อำเภอเขมราฐดำเนินการตามโครงการจำนวน 100 แปลงประกอบด้วยจำนวน 3 ไร่ 100 แปลงๆละ 104,000 บาท(หนึ่งแสนสี่พันบาทถ้วน) รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 10,400,000 บาท (สิบล้านสี่แสนบาทถ้วน) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และขอให้อำเภอดำเนินการพร้อมนำส่งเงินประกันสัญญาให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 นอกจากนี้ยังได้นำหนังสือที่อบ.0019/8049 ลงวันที่ 20 กันยายน 2565 เรื่องโครงการ ขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ลงนามโดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปฎิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่ากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง(ZEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และ SME พัฒนาคนโดยแจ้งอนุมัติงบประมาณให้อำเภอดำเนินการโดยให้มีการขุดปรับพื้นที่แปลงต้นแบบ จำนวนทั้งสิ้น 160 แปลง ประกอบด้วย จำนวน 3 ไร่ 75 แปลงๆละ 104,000 บาท (หนึ่งแสนสี่พันบาทถ้วน) จำนวน 1 ไร่ 45 แปลงๆ ละ 45,200 บาท (สี่หมื่นห้าพันสองร้อยบาทถ้วน) โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม2565 – เดือนมิถุนายน 2566 และหากอำเภอมีความประสงค์ดำเนินการขุดปรับพื้นที่ ขอให้แจ้งจังหวัดพร้อมนำส่งเงินประกันสัญญาให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวันที่ 21 กันยายน 2565
นางสาวเกวลิน มงคลชัยฤกษ์ อายุ 33 ปี กล่าวว่านางสาว ชัชวาล (สงวนนามสกุล) มีตำแหน่งเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนแห่งหนึ่ง เป็นคนที่ทำงานโครงการนี้และเคยทำโครงการมาแล้ว ก็เลยมีความน่าเชื่อถือประกอบกับผู้รับเหมาหลายรายที่เห็นหนังสือของทางราชการที่มีลายเซ็นของรองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 ท่าน ก็ยิ่งเชื่อ จากนั้นนางสาวชัชวาล ก็ได้เรียกไปทำสัญญาพร้อมเรียกเก็บเงิน อ้างว่าเป็นเงินประกันงาน ค้ำประกันงาน 5% ซึ่งผู้รับเหมาก็ไปจ่ายเงินให้ที่สำนักงานพัฒนาการอำเภอ ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี มีสลิปการโอนเงิน มาทราบภายหลังว่าถูกหลอก ตอนนี้ที่พอทราบมีผู้รับเหมาประมาณ 12 ราย สูญเงินแล้ว 4,480,434 บาทนอกจากนี้ยังมีผู้รับเหมารายอื่นที่ยังไม่ได้มาแสดงตัวว่าโดนหลอกไป ก็ยังไม่ทราบว่ามีความเสียหายเท่าไหร่คาดว่าน่าจะถึง 10 ล้านบาท
นางสาวเกวลิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางผู้รับเหมาเองที่ให้ความเชื่อถือนางสาว ชัชวาล (สงวนนามสกุล) เนื่องจากเวลาคุยเจรจาเรื่องงานโครงการดังกล่าวก็ไปติดต่อที่สำนักงานพัฒนาการอำเภอ ซึ่งสถานที่เราไปไม่ได้ไปตามข้างถนนหรือร้านอาหารก็ไปพูดคุยที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ชื่อของโครงการคือโครงการโคกหนองนา โมเดล เราก็ทราบกันดีว่าเป็นโครงการพระราชดำริไม่คิดว่าข้าราชการกล้าที่จะเอาโครงการนี้มาแอบอ้าง หลังจากที่รู้ว่าถูกหลอกทางผู้รับเหมาไปติดต่อทวงถามขอเงินคืน ทางเจ้าตัวก็ยอมรับผิด และรับว่าได้ปลอมแปลงเอกสารลงชื่อท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 ท่าน ขึ้นมาเอง ส่วนเงินที่หลอกไป ก็หามาคืนไม่ได้ จึงรวมตัวกันมาแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
ด้านนายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ กล่าวว่า นายอำเภอเอง ก็เป็นคนที่เสียหายด้วย เพราะถูกปลอมแปลงเอกสารด้วยเหมือนกัน และได้ไปแจ้งความนางชัชวาล ไว้ที่ สภ.เขมราฐ ในข้อหาปลอมแปลงลายมือชื่อเอกสารทางราชการไว้แล้ว เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นในส่วนนางสาวชัชวาล มีพฤติกรรมลักษณะใช้โครงการที่มีจริง หลอกทำสัญญาประกันปลอมเพื่อฉ้อโกงผู้รับเหมา สำหรับเรื่องของการดำเนินคดี เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ส่งไปยัง ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด เบื้องต้นทางจังหวัดโดยสำนักงานพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งที่ 43703 /2565 ให้ย้ายไปช่วยราชการที่กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว
พ.ต.อ.ชัยกฤต โชติวรรณ ผกก.สภ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความไว้ในคดีฉ้อโกงและข้อหาปลอมแปลงลายมือชื่อเอกสารทางราชการโดยหากพบความผิดอื่นอีกจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือเอกสารปลอมที่นางสาวชัชวาล เหนือโชติ ปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้รับเหมาซึ่งลงนามโดยนายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ได้มีการแจ้งความในเรื่องการปลอมแปลงเอกสารที่ สภ.เมืองอุบลราชธานีไว้แล้ว ส่วนหนังสือที่ปลอมแปลงลงนามโดย นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นั้นปัจจุบันได้ย้ายไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 หนังสือที่ถูกปลอมแปลงลงวันที่ 20 กันยายน 2565
ภาพ/ข่าว🙁วิชิต) วัชรพล มีสวัสดิ์ อุบลราชธานี รายงาน

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.