หนองบัวลำภู -สำนักงบประมาณชื่นชม “โคก หนอง นา โมเดล” สร้างรายได้ให้ครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 3,170 บาทต่อเดือน

สำนักงบประมาณชื่นชมการต่อยอดโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ของจังหวัดหนองบัวลำภู สร้างรายได้ให้ครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 3,170 บาทต่อเดือน และมีผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเรียนรู้ในแปลงแล้วกว่า 235 คน


วันนี้(26 ตค.65)ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากนายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมคณะให้การต้อนรับ นางสาวอรรจนา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเพื่อการบูรณาการงบประมาณและยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ และนำคณะทำงานติดตามจากสำนักงบประมาณ ลงพื้นที่เยี่ยมแปลงเกษตรของนางหนูเปลี่ยน เจิมทอง หมู่ที่ 7 ตำบลหนองหว้า อำเภอเมืองหนองบัวลำภู บนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ ใช้งบประมาณในการขุดปรับพื้นที่ 91,000 บาท


ทั้งนี้พื้นที่เป้าหมายดังกล่าวได้ขับเคลื่อนงานตามกระบวนการของโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ครัวเรือนมีการต่อยอดกิจกรรมจากทุนของตนเองอีกหลายกิจกรรม เช่น การเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก เป็นต้น ปัจจุบัน ผลิตผลจาก โคก หนอง นา ทำให้ครัวเรือนสามารถลดรายจ่ายได้กว่า 3,120 บาทต่อเดือน สร้างรายได้ให้ครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 3,170 บาทต่อเดือน และมีผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเรียนรู้ในแปลงแล้วกว่า 235 คน และจากการประเมินและจัดระดับถือเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับ A (ต้นแบบศูนย์เรียนรู้)


โดยมีนางสุมิตรา บุญโสดากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ นางรัตตินันท์ พัชรเรืองวงศ์ พัฒนาการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหว้า อดีตนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ร่วมนำเสนอข้อมูลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ประกอบการตรวจติดตามผลการดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเพิ่มเติมว่าในภาพรวมของจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการฯ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 89 แปลง ซึ่งทุกแปลงมีการขับเคลื่อนและเกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกแห่ง ผลการจัดระดับศูนย์เรียนรู้ อยู่ในระดับ A จำนวน 62 แปลง ระดับ B จำนวน 27 แปลง การบริหารงบประมาณเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และขับเคลื่อนโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเพื่อการบูรณาการงบประมาณฯ หัวหน้าคณะทำงานติดตามจากสำนักงบประมาณได้ชื่นชมการต่อยอดการดำเนินการจากโครงการฯ ที่นอกจากการต่อยอดโดยครัวเรือนเองโดยการแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวข้องมาพัฒนากิจกรรมในพื้นที่เป้าหมายเองแล้ว ในภาพรวมของจังหวัดหนองบัวลำภู ยังมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายตามโครงการฯ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัด เพื่อพัฒนาพื้นที่เป้าหมายสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมบูรณาการพัฒนาพื้นที่จากสำนักงานพลังงานจังหวัด ในการสนับสนุนพลังงานสะอาด (Solar Cell) เป็นต้น

ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู

เกษตร

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.