ขอนแก่น – KKU CSV มหกรรมบริการชุมชน  สุดประทับใจ อิ่มเอมผู้ให้ อิ่มใจผู้รับ พร้อมขยายสู่ชุมชน

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดมหกรรม KKU CSV “มหาวิทยาลัยขอนแก่นบริการชุมชน” ครั้งที่ 2 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธานในการเปิดงาน อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานการจัดงาน ในการนี้มีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณลานชั้น 1 สถานีรถไฟขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

สำหรับงาน “มหกรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่นบริการชุมชุน” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ KKU CSV มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมสร้างคุณค่าสู่สังคม ประจําปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังค่านิยม และ วัฒนธรรมองค์กร “การอุทิศเพื่อสังคม” ของประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ และความเชี่ยวชาญที่มี ในการรับใช้สังคมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหกรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่นบริการชุมชุน KKU CSV หรือ Creating Shared Value สอดคล้องกับ ปรัชญาการอุทิศเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัย โดยทิศทางการทำงานอุทิศเพื่อสังคมนั้น เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้คนในองค์กรนึกถึงประชาชน

“ไม่ว่าจะทำอะไร เราจะนึกถึงการแก้ปัญหา และ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติในที่สุด ฉะนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่า งานมหกรรม “มหาวิทยาลัยขอนแก่นบริการชุมชน” KKU CSV ที่จัดเป็นครั้งที่ 2 นี้  จะมีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวิกฤต covid-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ สุขภาพของประชาชน  เพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อสู้ฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน การให้บริการชุมชนครั้งนี้ จึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพของประชาชน และ เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ในกิจกรรมอื่นๆ ยังสามารถได้รับสาระความรู้อีกมากมายจากผู้เชี่ยวชาญ”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ปฏิบัติการด้านสุขภาพเชิงรุก โดยมีการประสานท้องถิ่น จัดหน่วยเคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนถึงที่ โดยการประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน เพื่อเข้าไปให้บริการประชาชน ตามแผนการปฏิบัติงานของแต่ละส่วน หรือตามที่ประชาชนร้องขออีกด้วย

อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดมหกรรมการบริการชุมชน ยิ่งใหญ่กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปีนี้มีหน่วยงานภายใน และ หน่วยงานภายนอก มาร่วมจัดกิจกรรมถึง 41 หน่วยงาน

“ปีที่ผ่านมามีเฉพาะหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยร่วมจัดงาน แต่ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และ การให้บริการในปีนี้ ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ ในฐานะที่เป็นผู้จัดงานรู้สึกตื้นตันใจมาก ภาพที่ประทับใจคือในช่วงเช้าแม้ว่ายังไม่ได้เปิดงานอย่างเป็นทางการ แต่มีประชาชนมารอเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ปกติเวลาพี่น้องประชาชนเข้ารับบริการสาธารณสุขจะต้องไปที่โรงพยาบาล แต่ในวันนี้เรานำบริการต่างๆของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มาให้บริการที่นี่ เป็นบริการที่ครบถ้วน มีความหลากหลายครอบคลุมทั้งร่างกาย รวมไปถึงการดูแลสุขภาพฟันของคณะทันตแพทยศาสตร์ด้วย เห็นแล้วชื่นใจที่พี่น้องให้ความสนใจมากมายขนาดนี้ ทำให้เห็นว่าบริการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ภาคีเครือข่าย เตรียมไว้ตรงกับความต้องการของประชาชน”ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

ทางด้าน นายชาญณรงค์  ประสารกก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากรที่มาให้บริการประชาชนในวันนี้ เปิดเผยว่า วันนี้ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ นำทีม CPR ของทางศูนย์หัวใจฯมาให้ความรู้ประชาชน เพราะการ CPR เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ช่วยชีวิตคนได้สูงมาก

 

“การ CPR สามารถทำให้ผู้เรียนรู้กลายเป็นฮีโร่ได้ เพราะการใช้แค่มือสองข้างแต่ทำได้ถูกต้อง ก็สามารถทำให้ผู้เรียนรู้ช่วยชีวิตคนได้ ฉะนั้นวันนี้ทีมของเราจึงนำหุ่นที่ใช้ในการสอนประชาชน และอุปกรณ์คอร์สในการอบรมของพวกเรามาทั้งหมด ซึ่งการที่เราออกมาสอนนอกสถานที่นี้จะช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสในการเข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์ฯได้รับการเทรนง่ายขึ้น มีผู้มาเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น โดยในวันนี้สอนประชาชนตั้งแต่นักเรียนชั้นม.1 จนถึงอายุประมาณ 70 ปี ทำให้เรามีการกระจายองค์ความรู้ด้านนี้ออกไปในสังคมได้มากขึ้น สามารถเพิ่มฮีโร่ในการช่วยเหลือคนได้อีกหลายคน”บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

นางสาวณัชชา จันทร์ทรงกลด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองเรือวิทยาคมจังหวัดขอนแก่น ผู้เรียนรู้การทำ CPR ของ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันนี้เปิดเผยว่า สนใจเรียนกู้ชีพเบื้องต้นเพราะว่าจะได้เป็นความรู้ติดตัว และ หากต้องไปเจอสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทัน

“ทีม CPR ของทางศูนย์หัวใจฯ สอนเป็นกันเองมาก วิธีการสอน คือ อาจารย์จะเปิดกล่องให้ดู และ ในกล่องนั้นจะมีขั้นตอนทีละขั้นตอนแล้วก็ปฏิบัติตามที่ในกล่องบอก การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาจัดกิจกรรม และ มาจัดสอนกู้ชีพนอกสถานที่ เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะได้ความรู้และเป็นการเปิดประสบการณ์ได้ความรู้ที่แปลกใหม่ในสถานที่ใหม่ๆ”

นางสาวภัทรวดี บุตรโคตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองเรือวิทยาคมจังหวัดขอนแก่น ผู้เรียนรู้การทำ CPR ของ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ที่สนใจมาเรียนกู้ชีพพื้นฐานเพราะว่าเป็นสถานการณ์ที่สามารถเจอได้ทั่วไป และเป็นความรู้ติดตัว

“พี่ๆจะสอนว่าเวลาเจอผู้ป่วยจะต้องทำอย่างไร และ เครื่องมือต้องใช้อะไรยังไงบ้าง ซึ่งเราเคยเรียนกู้ชีพมาจากที่โรงเรียนแล้ว แต่การเรียนที่โรงเรียนและที่นี่มีความแตกต่างกัน คือ ได้เรียนกับหุ่น และ อุปกรณ์จริงๆของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการเรียนรู้นอกสถานที่ได้บรรยากาศ และ ได้ประสบการณ์ในการเจอผู้คนใหม่ๆ หนูก็เชื่อว่าหากจะต้องเจอสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้แต่อาจจะต้องรวบรวมความกล้านิดหน่อย”

นางสาวสุกัญญา ไชยบุตร อายุ 57 ปี  ชาวจังหวัดขอนแก่น ผู้ใช้บริการตรวจสุขภาพโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า รู้ข่าวการจัดกิจกรรม csv จากลูกชายเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ลูกเขยที่เป็นพนักงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ลูกชายแนะนำให้มาตรวจสุขภาพ  วันนี้ใช้บริการตรวจครบวงจรเลยค่ะ ตั้งแต่เจาะเลือด ตรวจวัดปริมาณน้ำตาล วัดความดันโลหิตสูง ตรวจมะเร็งปากมดลูก และ ตรวจเต้านม ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะใช้บริการหลายจุด แต่ใช้เวลาไม่นาน และเจ้าหน้าที่ให้บริการเป็นอย่างดี การมารับบริการแบบนี้สะดวก ต่างจากโรงพยาบาลที่ต้องเดินไกลๆไปห้องนู้นห้องนี้”

“ในการตรวจสุขภาพวันนี้เจอคุณหมอที่ฐานตรวจมะเร็งเต้านม ซึ่งคุณหมอบอกว่าไม่เจอก้อนเนื้อร้าย แต่ถ้าจะให้ดีต้องไปตรวจเมมโมแกรมที่โรงพยาบาลด้วย ผลการตรวจต่างๆ ชัดเจนรวดเร็วดี บางครั้งไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจใช้เวลานาน ในขณะที่การมาตรวจนอกสถานที่ลักษณะนี้ใช้ระยะเวลาที่เร็วกว่า การบริการของเจ้าหน้าที่ก็สุภาพเรียบร้อย บริการดีมากยิ้มแย้มแจ่มใส”

นางสาว นันท์นภัส เจริญโชคทรัพย์  อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น ผู้รับบริการ การดูแลสัตว์เลี้ยงคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การบริการชุมชนวันนี้รู้จากเพจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“เราเข้าไปติดตามเพจของมขโดยตรง เมื่อมีข่าวสารตรงนี้ประชาสัมพันธ์ เราจึงสนใจ และสอบถามรายละเอียดตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ วันนี้พาน้องหมามารับบริการ 1 ตัว น้องแมว 3 ตัว ปกติเคยไปรับบริการที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่วันนี้มารับบริการที่นี่รู้สึกว่า ไปที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ อาจจะสะดวกเพราะมีที่จอดรถมากกว่า แต่การมารับบริการตรงนี้รู้สึกว่าชอบมาก เพราะว่าเลี้ยงสัตว์หลายตัว ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย”

“ถ้าเราพาน้องหมาน้องแมวไปที่โรงพยาบาลสัตว์ หรือ ที่คลินิกสัตว์เลี้ยง จะเสียค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร แต่เมื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดให้บริการฟรีครั้งนี้ เรารู้สึกพอใจมาก เพราะรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้ให้ความเฉพาะคนเท่านั้น แต่ยังใส่ใจสุขภาพสัตว์เลี้ยงของคนด้วย เพราะว่าทุกวันนี้สัตว์ก็อยู่ร่วมกับคนจนเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว อยากจะขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มากๆเลย ดีใจที่มีโครงการตรงนี้ออกมา”

นายชยางกูร ลิ้มพานิช อายุ 28 ชาวจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า วันนี้ไปร่วมกิจกรรมหลายบูธ อาทิ การบริจาคโลหิต การฝังเข็ม การตรวจสอบสมรรถภาพร่างกาย โดยทราบข่าวการจัดกิจกรรมวันนี้จากคุณแม่ที่เป็นอสม.

“ผมเคยมาตรวจสุขภาพตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้อยากมาเข้าร่วมอีก วันนี้จึงร่วมกิจกรรมหลายบูธมาก ช่วงเช้าไปบริจาคเลือด ตอนบ่ายก็มาฝังเข็ม และ ตรวจมวลค่าร่างกาย ที่เข้ารับบริการการฝังเข็มเพราะว่ามีอาการเครียดนอนไม่หลับ ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าสามารถฝังเข็มในจุดคลายเครียด  ก่อนหน้านี้เคยฝังเข็มมาแล้วจึงเข้ารับบริการที่นี่ และไม่กลัว”

“การจัดกิจกรรมบริการชุมชนแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมากอยากให้คนมาเยอะๆ ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ พี่ๆ บุคลากรโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มากๆ การทำงานในโรงพยาบาลโดยปกติก็หนักและมีความเครียดมากอยู่แล้ว วันนี้รู้สึกซาบซึ้งใจมากๆ ที่ทุกท่านเสียสละเวลามาให้บริการประชาชนนอกสถานที่ แบบนี้”

สำหรับมหกรรม KKU CSV “มหาวิทยาลัยขอนแก่นบริการชุมชน” ครั้งที่ 2 นี้ นับเป็นงานมหกรรมการบริการชุมชนที่สอดคล้องกับปรัชญาการอุทิศเพื่อสังคม และยุทธศาสตร์การบริหารงานของมหาวิทยาลัย ด้านการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการจากแบบเดิม ให้เป็นการบริการวิชาการที่ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ซึ่งประชาคมชาวมหาวิทยลัยขอนแก่นเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการทุ่มเท แรงกายแรงใจ ในการทำงานครั้งนี้ จะส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในองค์รวมต่อไป

ข่าว/ภาพ : กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีมข่าวอีสานเดลี่ออนไลน์ / รายงาน