กาฬสินธุ์ (ชมคลิป) โผล่อีกบ่อบาดาลถังเหล็กตั้งพื้นทสจ.เสี่ยงอันตรายหวั่นน้ำใช้ไม่ถึงแล้ง

 


โผล่อีกบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์ถังเหล็กตั้งพื้นของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านระบุถังน้ำ 2 หมื่นลิตรเสี่ยงอันตรายล้มทับ หวั่นสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ไม่ถึงช่วงหน้าแล้ง วอนหน่วยงานเข้าตรวจสอบแก้ไข


เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ส่อไปในทางไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องน้ำ รวมถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งหวั่นวิตกกังวลถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะถังเหล็กขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร ซึ่งใช้พลาสติกรองน้ำด้านในตั้งไว้พื้น ชาวบ้านเกรงว่าถังเสี่ยงจะล้มทับได้รับอันตราย นอกจากนี้ระบบส่งน้ำต่ำ รวมถึงการขุดเจาะเกรงว่าอาจจะใช้ไม่ถึงหน้าแล้ง และอาจจะไม่คุ้มเงินงบประมาณ 5 แสนบาท จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตง.กาฬสินธุ์และปปช.กาฬสินธุ์เข้ามาตรวจสอบ


ล่าสุดจากการลงพื้นที่บ้านโพนวิมาน หมู่ที่7 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการโครงการก่อสร้างขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์ พบป้ายระบุโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ลึก 80 เมตร ค่าก่อสร้าง 489,000 บาท เริ่มสัญญา 8 ก.ค.65 และสิ้นสุดสัญญา 22 ส.ค.65 โดยการก่อสร้างมีรูปแบบที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายเป็นอย่างมาก


โดยเฉพาะถังเหล็กที่ใช้กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะการนำเอาวัสดุที่เป็นแผ่นเหล็กมาต่อขึ้นรูปเป็นวงกลมประกบเข้ากัน ใช้น็อตเป็นตัวยึดตั้งไว้บนพื้นคอนกรีตยกสูงจากพื้นดินเพียงประมาณ 30 ซม.เท่านั้น ซึ่งถังมีความสูงประมาณ 6 เมตร ภายในถังได้นำเอาผ้ายางพลาสติกปูผนังและพื้นถัง เพื่อรองรับน้ำที่อยู่ภายในถัง ซึ่งชาวบ้านระบุว่าไม่เคยเห็นการใช้วัสดุแบบนี้ในการสร้างถังกักเก็บน้ำมาก่อน


นอกจากนี้การยึดถังยังเสี่ยงและเกรงว่าไม่มีความปลอดภัยคือมีการใช้เหล็กฉากสูงประมาณ 1 เมตร เจาะรูใช้น็อตยึดกับตัวถัง มีฐานยาวประมาณ 30 ซม.เจาะรูคอนกรีตยึดไว้กับพื้น 4 ด้าน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านกลัวก็คือความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับเหล็กที่ใช้นำมาใช้ในการยึดตัวถังน้ำเอาไว้ เพราะเกรงว่าเวลาที่ถังบรรจุน้ำจนเต็มแล้วจะรับน้ำหนักไม่ไหว หรือเวลามีลมพายุมาถังจะถูกล้มทับคนได้ รวมไปถึงเรื่องของการกักเก็บน้ำที่นำผ้ายางพลาสติกมารองน้ำภายในถังอาจเสื่อมสภาพแล้วปัญหาน้ำรั่วซึมเร็วกว่าที่ควร รวมทั้งท่อระบบส่งน้ำออกจากถังเหล็กให้กับเกษตรกร ซึ่งอยู่ในระยะที่ต่ำสูงจากก้นถังเพียงแค่ประมาณ 5ซม.เท่านั้น และไม่ได้มีการเดินระบบน้ำไว้ให้กับเกษตรกร แต่ถ้าหากมีการใช้งานจริงระบบส่งน้ำอาจจะส่งไม่ถึงพื้นที่ไกลออกไปและพื้นที่สูงอาจจะส่งขึ้นไปไม่ได้ เพราะถังกักเก็บน้ำนั้นตั้งอยู่ต่ำ


จากการสอบถามนายธีรเดช นามมุงคุณ อายุ 35 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ลูกชายนางศรี นามมุงคุณ เจ้าของที่ดินที่มีการขุดเจาะบ่อบาดาล ระบุว่า ครอบครัวได้ส่งเรื่องขอรับการสนับสนุนบ่อบาดาลดังกล่าว ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อปี 2563 เพื่ออยากจะได้น้ำใช้ในการทำเกษตรในฤดูแล้ง เนื่องจากพื้นที่ของตนในช่วงหน้าแล้งน้ำใช้ไม่เพียงพอ เพราะอยู่ไกลลำห้วย อาศัยเพียงน้ำฝนเท่านั้น กระทั่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งซัมเมอร์ แผงโซล่าเซลล์ และมีถังเหล็กให้ในช่วงเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา และทราบว่ามีการส่งมอบให้กับตนเองวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ลักษณะเหมือนเร่งรีบ เพราะในส่วนของระบบการจ่ายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรยังไม่เรียบร้อย ทางผู้รับเหมาได้ทิ้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินระบบน้ำไว้ให้จำนวนหนึ่ง


นายธีรเดช ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าโครงการนี้หากใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง วัสดุอุปกรณ์คงทนแข็งแรง ปริมาณน้ำพอถึงหน้าแล้งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ก็ยังกังวลในส่วนของถังเหล็กบรรจุน้ำที่ตั้งวางอยู่บนพื้นคอนกรีต ที่มีเพียงเหล็กฉากเท่านั้นที่ยึดเอาไว้ ดูแล้วไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะเหล็กฉากที่ใช้นั้นมีขนาดฐานสั้น สูงเพียง 1 เมตร แต่เอามาทำเป็นเสายึดตัวถังน้ำมีแค่น็อตยึดไว้ไม่กี่ตัว ตัวถังน้ำเหล็กนั้นก็เอาแผ่นเหล็กมาขึ้นรูปเป็นวงกลมประกบติดกัน และยึดด้วยตัวน็อตไว้ ส่วนภายในมีแผ่นยางพลาสติกทำให้ตนกังวลว่าจะไม่คงทนและอาจไม่ปลอดภัย เพราะต้องรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากถึง 2 หมื่นลิตร หากใช้งานไประยะหนึ่งอาจจะทำให้น็อตเกิดการคลายตัว สนิมกัดกินน็อตที่ใช้ยึดและเกิดรั่วซึมเเล้วปริแตก หรือไม่ถ้าช่วงมีลมพายุมาพัดกระทบตัวถังน้ำแล้วอาจเกิดการโค่นล้มลงได้ อีกทั้งระบบส่งน้ำก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้มากน้อยแค่ไหนยิ่งถ้าส่งน้ำขึ้นเนินจุดที่สูงกว่าจุดที่เป็นท่อส่งน้ำจากตัวถังอาจจะส่งน้ำไปใช้ไม่ได้เลย จึงอยากให้เข้ามาแก้ไขด้วย ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ

คลิป, ชาวบ้าน

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.