กาฬสินธุ์พบอีกบ่อบาดาล ทสจ.กาฬสินธุ์ถังเหล็กเสี่ยงอันตรายส่อไม่คุ้มเงินแผ่นดิน
พบอีกแห่งบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์เพื่อการเกษตรแก้ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์งบไม่เกิน 5 แสนบาท ชาวบ้านระบุไม่มั่นใจรูปแบบการก่อสร้าง เสี่ยงได้รับอันตราย เหตุถังน้ำเหล็กประกอบรองพลาสติกด้านในขนาด 2 หมื่นลิตรเสาค้ำเล็กและสั้น หวั่นน็อตคลายตัว น้ำรั่วซึมและเกิดการโค่นล้มเสียหาย ส่อไม่คุ้มงบประมาณแผ่นดินและใช้งานได้ไปจนถึงหน้าแล้ง
จากกรณีพบบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ ตามโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 จ.กาฬสินธุ์ โดยเป็นโครงการงบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท ส่อไม่ได้รับประโยชน์และแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องน้ำ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถังน้ำเหล็กปูพลาสติกด้านในขนาด 2 หมื่นลิตร ที่ตั้งพื้นดิน และระบบส่งน้ำต่ำ ชาวบ้านเกรงว่าไม่ปลอดภัยกลัวถังเหล็กล้มทับและใช้ไม่ถึงหน้าแล้ง ส่อไม่คุ้มเงิน 5 แสนบาท จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตง.และปปช.เข้ามาตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณแผ่นดินและเงินภาษีของประชาชนเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 มีรายงานว่า ยังพบบ่อบาดาลโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีปัญหาดังกล่าวอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่บ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจากการเข้าสำรวจพบมีป้ายระบุโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ลึก 80 เมตร ค่าก่อสร้าง 489,000 บาท ซึ่งลักษณะการก่อสร้างรูปแบบเดียวกับบ่อบาดาลที่พบใน ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ที่มีปัญหา
โดยเฉพาะการเจาะน้ำบาดาลติดตั้งเครื่องซัมเมอร์สสูบน้ำไปยังถังเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะการนำเอาแผ่นเหล็กมาล้อมเป็นวงกลมประกบเข้ากันแล้วขันน็อตยึดต่อๆกัน ตั้งไว้บนพื้นปูนติดพื้นดิน สูงประมาณ 6 เมตร โดยนำผ้ายางปูรองน้ำอยู่ด้านใน ซึ่งไม่เคยพบเห็นถังเก็บน้ำแบบนี้มาก่อน นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเหล็กฉากสูงประมาณ 1 เมตร ยึดกับตัวถัง และฐานยาวประมาณ 30 ซม.ยึดกับพื้นปูนไว้ 4 ด้าน จุดนี้ชาวบ้านหวั่นไม่ปลอดภัยกลัวถังล้มทับ และน้ำรั่วซึม รวมทั้งมีการต่อท่อออกจากถังเหล็กส่งน้ำให้กับเกษตรกรในระยะที่ต่ำ 2 จุด แต่ไม่ได้มีการเดินระบบท่อน้ำไว้ จึงเกรงว่าระบบส่งน้ำอาจจะส่งไม่ถึงพื้นที่ของเกษตรกร ทั้งนี้ด้านข้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ติดตั้งอยู่
สอบถามนางสาวคันฉาย ละเอียด อายุ 37 ปี ลูกสาวนางขวัญใจ ภูกา เจ้าของที่ดิน กล่าวว่าครอบครัวตนและเพื่อนบ้าน ซึ่งมีที่ดินติดกันรวม 5 ครอบครัว เคยเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนบ่อบาดาลดังกล่าว ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อปี 2563 ทั้งนี้ เพื่ออยากจะได้น้ำใช้ในการทำเกษตรในฤดูแล้ง เนื่องจากพื้นที่ทำกินอยู่บนที่สูง ไม่มีระบบน้ำชลประทาน จึงปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการขุดเจาะบาดาล พร้อมติดตั้งซัมเมอร์สและแผงโซล่าเซลล์ให้ มีการตรวจรับงานเมื่อวันก่อน แต่ในส่วนของระบบการจ่ายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรยังไม่เรียบร้อย
นางสาวคันฉาย กล่าวอีกว่า ดีใจที่จะได้มีน้ำใช้ ก็แต่เมื่อเห็นรูปแบบของถังบรรจุน้ำ โดยตัวถังน้ำวางอยู่บนแท่นซีเมนต์ มีเพียงเหล็กฉากเล็กๆ และสั้น สูงประมาณ 1 เมตรเป็นเสาค้ำฐานถังน้ำนั้น ซึ่งวิธีการทำถังน้ำคือนำแผ่นเหล็กรูปวงกลมมาประกบติดกันและยึดด้วยตัวน็อต ต่อกันขึ้นไปเป็นรูปทรงกระบอก มีผ้ายางปูรองน้ำอยู่ด้านใน ทำให้ตนรู้สึกว่าน่ากังวลว่าจะไม่คงทนและไม่ปลอดภัย เนื่องจากต้องรองรับปริมาณน้ำมากถึง 2 หมื่นลิตร ที่หากใช้งานไประยะหนึ่งอาจจะทำให้น็อตเกิดการคลายตัวหรือปริแตก พลาสติกด้านในขาดน้ำรั่วซึม หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะเกิดการโค่นล้มลงได้ เนื่องจากไม่มีเสาค้ำยันตัวถังเหล็กไว้ ซึ่งที่ผ่านมาบ่อบาดาลและถังน้ำเหล็กพลาสติกด้านใน ระบบส่งน้ำต่ำแบบนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่รู้ว่าจะใช้ได้มากน้อยแค่ไหน
“ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เนื่องจากจุดที่ตั้งของบ่อบาดาลติดกับถนน และเป็นทางเปลี่ยว แผงเหล็กที่ทำเป็นรั้วล้อมแผงโซล่าเซลล์และแผงควบคุมนั้นก็เตี้ยต่ำ คนก้าวข้ามได้ ก็เป็นห่วงเรื่องความความปลอดภัย เพราะอาจจะมีโจรขโมยเข้ามาลักได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย อายุการใช้งานของถังน้ำคงทน ให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแก้ไขปรับปรุง ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย” นางสาวคันฉายกล่าว