ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค4 เปิดโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา จังหวัดขอนแก่น แก้ไขปัญหายาเสพติด ในกรณีผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดก่อเหตุรุนแรง ฝึกเข้ม 21 วัน เน้นอบรมสติบำบัด อาชีวะบำบัด และกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรม ยอมรับผู้ป่วยยาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่สถานที่บำบัดฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมมีไม่เพียงพอ
วันที่ 1 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดขอนแก่น ที่ 1 ค่ายแก่นพิทักษ์ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา จังหวัดขอนแก่น โดยมี พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น นางวิมนา เวทีกูล ผอ.ส่วนประสานงานพื้นที่ ป.ป.ส.ภาค 4 ผู้แทนหน่วยงาน สสจ.ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.น้ำพอง รพ.ขอนแก่น รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และข้าราชการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ร่วมพิธี ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายของ ผบช.ภ.4 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในกรณีผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดก่อเหตุรุนแรง โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข หน่วยกู้ภัย พัฒนาสังคมจังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ รวมถึงบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วย ผู้ดูแล ร่วมแก้ไขปัญหา
พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมจากบุคคลเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 30 คน เข้ารับการฝึกอบรมสติบำบัด อาชีวะบำบัด และกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรม เป็นระยะเวลา 21 วัน ระหว่างวันที่ 25 ส.ค.-14 ก.ย.65 รวมถึงการให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติการดูแลที่ถูกต้องให้แก่ผู้ดูแล การติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันแก้ไขปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายสาธารณสุขในพื้นที่ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม เพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายท้องถิ่น ครอบครัว ผู้ดูแล และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเสริมสร้าง พัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายท้องถิ่น และชุมชนในการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรง
ผบช.ภ.4 กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ภาค4 ซึ่งปัญหาสำคัญที่พบหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ที่เสพยาเสพติดแล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่งในแต่ละเหตุการณ์มาได้แล้ว กลับไม่มีสถานที่ที่ใช้ในการบำบัดฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาเมื่อควบคุมตัวได้ก็ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ที่จะใช้ในการบำบัดฟื้นฟู จึงทำได้เพียงการให้ยากลับมาทานเพื่อรักษาอาการป่วย บางคนไม่ยอมรักษา ไม่ยอมทานยา ทำให้การรักษาไม่เกิดความต่อเนื่อง ส่งผลทำให้อาการทางจิตกลับมาอีกครั้ง สร้างปัญหาให้กับสังคมวนไปวนมา ดังนั้น การเปิดโครงการฯ ในวันนี้จึงถือเป็นก้าวแรก โดยได้ใช้สถานที่ของกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดขอนแก่น เป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงาน ป.ป.ส.ขอนแก่น มีแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันบำบัดฟื้นฟูผู้เข้ารับการบำบัด กลุ่มสีเหลือง (สีแดง คือ วิกฤต) เมื่อคลบกำหนดการบำบัดฟื้นฟูก็เชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมฯ จะดีขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะมีการติดตามประเมินผลต่อไปหลังจากจบโครงการฯ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วังวนของยาเสพติดเช่นเดิม