กาฬสินธุ์ฝนตกต่อเนื่องเกิดน้ำป่าเขาภูพานไหลลงสู่ห้วยลำพะยัง และลำห้วยยาง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอนาคู และอำเภอเขาวงกว่า 100 ไร่ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์กำชับให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและให้การช่วยเหลือหากเสียหาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ติดเชิงเขาให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่มในช่วงนี้ และติดตามข่าวสารจากราชการอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาวะฝนตกติดต่อกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเที่ยงของวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลมาจากเทือกเขาภูพานลงสู่ลำห้วยลำพะยัง และลำห้วยยาง ในพื้นที่อำเภอนาคู และอำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรใน ต.สระพังทอง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง และ ต.สายนาวัง ต.โนนนาจาน ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู ซึ่งเริ่มได้รับผลกระทบ หลังจากปริมาณน้ำทั้งสองลำห้วยเอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตลึกถึง 1 เมตร และมีบางจุดที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีความลึกกว่า 2 เมตร เบื้องต้นมีพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรถูกน้ำแล้วกว่า 100 ไร่
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่นาข้าวใน ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางน้ำเริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้วเช่นกัน ทั้งนี้หากยังมีฝนตกหนักลงมาซ้ำอีกในช่วงนี้ อาจจะทำให้น้ำป่าจากเขาภูพานไหลลงมาที่ลำห้วยยางและลำห้วยลำพะยังเพิ่มมากขึ้น และเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอีก
ด้านนายปรีชา วิลาศรี อายุ70ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 ม.4 บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเองมีที่นาเป็นที่ราบลุ่ม และมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมนาข้าวเป็นประจำทุกปี แต่ละปีก็จะหนักบ้าง เบาบ้าง สำหรับปีนี้นั้นรู้สึกว่าน้ำจะเข้ามาท่วมที่นาเร็วมาก เพราะสาเหตุมาจากฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเที่ยงของเมื่อวานและตกตลอดทั้งคืน ทำให้เช้านี้น้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าท่วมนาข้าวเกษตรกรในพื้นที่อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องลงมาในวันนี้อีก ปริมาณน้ำคงเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ และคงขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
ขณะที่นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้กำชับและสั่งการให้พื้นที่อำเภอที่ได้รับผลกระทบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าสำรวจเสียหาย เบื้องต้นพบว่าปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร แต่ยังไม่มีบ้านเรือนของประชาชนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้หากไม่มีฝนตกลงมาอีกคาดว่าใช้เวลา 3-4 วัน ปริมาณน้ำคงจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามหากมีพื้นที่เสียหายก็ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ติดเชิงเขาให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่มในช่วงนี้ และติดตามข่าวสารจากราชการอย่างใกล้ชิด