มรภ.ศรีสะเกษ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมฐานราก หลังโควิดคลี่คลาย สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้สู่ชุมชน ในเขตบริการ

 


เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง รอง อธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า มรภ.ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ขึ้น ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร ซึ่งเป็นเขตบริการของ มรภ.ศรีสะเกษ โดยได้ร่วมกับ นายสวาท จำปาเทศ นายก อบต.ฟ้าห่วน พร้อมด้วย นายพัฒนากร เขตนิมิตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ในนามของคณะกรรมการจัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกิจกรรม


โดยประกอบด้วยกิจกรรม 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการแปรรูปกระเป๋าจากผ้าทอมือบ้านฟ้าห่วน และเนื่องจาก ต.ฟ้าห่วน เป็นตำบลที่มีแม่น้ำชีไหลผ่านทำให้มีปลาหลายชนิดตลอดทั้งปี ผู้จัดทำโครงการจึงอยากให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากปลาในชุมชนจึงจัดกิจกรรมที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่า และกิจกรรมอบรมให้ความรู้หลักสูตรกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์เพื่อขายสินค้าบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นตลาดใกล้ตัวและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และครอบครัวได้เป็นอย่างดี


รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจนแบบมีเป้าหมายตามที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนเกิดการว่างงานย้ายกลับถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา


นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพื้นที่ ต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร เป็นหนึ่งในตำบลเป้าหมายของ มรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP เป็นอาชีพเสริม ในชื่อวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านฟ้าห่วน โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน รวมถึงส่งเสริมเกี่ยวกับทักษะศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ จะสามารถช่วยสร้างรายได้ของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ เพื่อสนองนโยบายโครงการดังกล่าว ในการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น รวมถึง ยังเป็นการสนองตอบนโยบายของจังหวัดในการใช้หลักภูมิศาสตร์


ดังนั้น การนำหลักภูมิปัญญาของทั้งสองกลุ่มมาใช้ร่วมกัน จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ โดยใช้แนวคิดเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) เป็นหลักและการนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน โดยเน้นการใช้หลัก BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด


และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา
ศรีสะเกษ // รายงาน

การศึกษา

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.