มรภ.ศรีสะเกษ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมฐานราก หลังโควิดคลี่คลาย สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้สู่ชุมชน ในเขตบริการ

 


เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง รอง อธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า มรภ.ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ขึ้น ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร ซึ่งเป็นเขตบริการของ มรภ.ศรีสะเกษ โดยได้ร่วมกับ นายสวาท จำปาเทศ นายก อบต.ฟ้าห่วน พร้อมด้วย นายพัฒนากร เขตนิมิตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ในนามของคณะกรรมการจัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกิจกรรม


โดยประกอบด้วยกิจกรรม 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการแปรรูปกระเป๋าจากผ้าทอมือบ้านฟ้าห่วน และเนื่องจาก ต.ฟ้าห่วน เป็นตำบลที่มีแม่น้ำชีไหลผ่านทำให้มีปลาหลายชนิดตลอดทั้งปี ผู้จัดทำโครงการจึงอยากให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากปลาในชุมชนจึงจัดกิจกรรมที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่า และกิจกรรมอบรมให้ความรู้หลักสูตรกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์เพื่อขายสินค้าบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นตลาดใกล้ตัวและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และครอบครัวได้เป็นอย่างดี


รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความยากจนแบบมีเป้าหมายตามที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนเกิดการว่างงานย้ายกลับถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา


นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพื้นที่ ต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร เป็นหนึ่งในตำบลเป้าหมายของ มรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP เป็นอาชีพเสริม ในชื่อวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านฟ้าห่วน โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน รวมถึงส่งเสริมเกี่ยวกับทักษะศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ จะสามารถช่วยสร้างรายได้ของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ เพื่อสนองนโยบายโครงการดังกล่าว ในการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น รวมถึง ยังเป็นการสนองตอบนโยบายของจังหวัดในการใช้หลักภูมิศาสตร์


ดังนั้น การนำหลักภูมิปัญญาของทั้งสองกลุ่มมาใช้ร่วมกัน จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ โดยใช้แนวคิดเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) เป็นหลักและการนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน โดยเน้นการใช้หลัก BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด


และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา
ศรีสะเกษ // รายงาน