เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่โรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี มีชาวบ้านศิษย์เก่าโรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดม กว่า 100 คนรวมตัวกันชูป้ายข้อความไม่เปลี่ยนชื่อโรงเรียน,หนีไปนางมารร้าย GETOUT,ออกไป เพื่อคัดค้าน การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จากเดิมโรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดม จะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลเดชอุดม โดยในวันนี้จะมีการประชุมประชาคมเพื่อขอมติในการเสนอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนที่หอประชุมบัวชมพู โรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดม โดยมีกรรมการสถานศึกษา ชาวบ้านจาก 8 หมู่บ้าน มาประชุมประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นปรึกษาหารือ กำหนดแนวทางการทำประชาพิจารณ์ โดยในที่ประชุมชาวบ้านกว่า 100 คนได้ยกมือคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดม ซึ่งจะตัดคำว่านาคสมุทร ออกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนอนุบาลเดชอุดม
ด้านนายเจษฎาพงษ์ ไชยเดช ศิษย์เก่า กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดมเป็นโรงเรียนอนุบาลเดชอุดมอย่างเดียวเพราะโรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดมประวัติความเป็นมาและมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งสำหรับวัดบ้านโรงเรียนชุมชนต่างๆที่อยู่ใกล้โรงเรียนอนุบาลนาคสมุทรเดชอุดมโดยวันนี้เรามาแสดงพลังความกตัญญู ต่อเวทีต่อผู้มีอุปการะคุณที่ร่วมสร้างร่วมส่งเสริมโรงเรียนนาคสมุทรให้อยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน ที่เรามารวมตัวกันล้วนแล้วแต่เป็นพ่อแม่พี่น้องชาวบ้านตลาดศรีอุดมและชาวบ้านละแวกนี้ที่อยู่ในเขตบริการของโรงเรียนและศิษย์เก่าที่อยู่ทั่วโลกทุกคนที่ทราบข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนทุกคนล้วนแล้วแต่ลงชื่อทางออนไลน์ จึงอยากมาแสดงพลังว่าให้คงคำว่านาคสมุทรไว้กับโรงเรียนนี้และการรวมพลังของเรา ก็เป็นการรวมพลังของเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนของศิษย์เก่าเราไม่ได้อยากจะขัดแย้งกับใครเราไม่อยากมีเรื่องมีราวกับใครแต่เราทำเพื่อส่วนรวมเพื่อชุมชนและขอบอกเลยว่าไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน ซึ่งศิษย์เก่ามีทั้ง สจ. สท.และผู้บริหารท้องถิ่นก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนซึ่งมารวมตัวกันอยากจะขอคัดค้านการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน
นายประมวล ใจภักดี รอง ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 5 กล่าวว่าการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนต้องเปลี่ยนตามกฏกระทรวงศึกษาธิการ ผู้นำโรงเรียนหรือผู้นำองค์กรก็ต้องคิดถึงส่วนรวมด้วยว่ามีการคัดค้านหรือเปล่า ซึ่งการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนนั้นมี 3 ขั้นตอนเช่นคณะครูต้องพร้อมใจกันและเห็นพ้องต้องกันในการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนหลังจากที่ครูยินยอมแล้วก็จะเอานำเข้าคณะกรรมการสถานศึกษา และที่สำคัญต้องนำเข้าวาระเพื่อการพิจารณา จะต้องนำเข้าประชาคม เพื่อทำประชาพิจารณ์ หากมีการคัดค้านก็จะต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย
ภาพ/ข่าว:ยงยุทธ ผูกพันธ์ อุบลราชธานี