เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวบ้านจากบ้านตาแหลว ต.หัวนา อ.เขมราฐจ.อุบลราชธานี ประมาณ 30 คน นำโดยนางสาววิจิตรา คนขยัน เดินชูป้ายข้อความ ระบุว่า ท่านผู้ว่าช่วยด้วย,ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน,ชีวิต 1 ชีวิต,มาโรงพยาบาลเพื่อให้หายป่วย ไม่ได้มาหาความตาย,กุญแจมือมาจากไหน คนป่วยไม่ใช่นักโทษ,พวกเราต้องสูญเสีคนที่เรารัก อย่างไม่มีวันหวนกลับ,มนุษยธรรม จิตสำนึก น้ำใจคืออะไรมีบ้างไหม,ท่านผู้ว่าช่วยด้วยความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จากกรณีพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทิ้งผู้ป่วย จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยญาติที่มาต่างพากันร้องตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ประตูทางเข้าศาลากลางจังหวัด นางสาววิจิตรา คนขยัน อายุ 40 ปี กล่าวว่า นายกฤษฎา คนขยัน อายุ 35 ปี ทำงานอยู่ที่ เทศบาลตำบลหัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลฯ ตำแหน่งผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นน้องชาย ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เนื่องจากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ,ไอ อาเจียน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน นายกฤษฎา ได้หลบหนีออกจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 พบว่านายกฤษฎา กลายเป็นศพนอนคว่ำหน้าในลำห้วยบังโกย สภาพศพไม่สวมเสื้อใส่เพียงกางเกงขาสั้นสีเทา ที่ข้อมือซ้ายมีสายรัดผู้ป่วยของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพร้อมกับกุญแจมือ ซึ่งการตายของนายกฤษฏา เกิดจากการปฏิบัติงานที่บกพร่องประมาทเลินเล่อ ปล่อยปะละเลย ทอดทิ้ง ของพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทำให้ นายกฤษฎา หนีออกไปจากโรงพยาบาลโดยลำพัง ซึ่งพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งสามารถใช้ความระมัดระวังที่มีอยู่ในวิสัยที่ตนเองสามารถกระทำได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การปฏิบัติงานที่บกพร่องประมาทเลินเล่อ ปล่อยปะละเลย ทอดทิ้ง ขาดการติดตามดูแลตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลตามวิชาชีพดังกล่าวเป็นเหตุให้ นายกฤษฎา เสียชีวิตในที่สุด นับตั้งแต่วันเกิดเหตุที่พบว่านายกฤษฎา เสียชีวิตลงจนถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ ไม่เคยแสดงความเสียใจ ไม่เคยกล่าวคำขอโทษ ไม่เคยให้การเยียวยาใด ๆ กับญาติแต่อย่างใด มีแต่ทางโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โทรศัพท์แจ้งญาติให้มาเก็บข้าวของเครื่องใช้ของนายกฤษฎา ระหว่างการรักษาแล้วให้มาลงลายมือชื่อปฏิเสธการรักษา เพื่อจะโยนความผิดชอบของพวกตนให้พ้นไปจากตัว
นางสาววิจิตรา คนขยัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ญาติมีความประสงค์ขอให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยผู้อำนวยการฯและพยาบาลที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและมีหนังสือกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานที่บกพร่องประมาทเลินเล่อทอดทิ้งผู้ป่วย จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และขอให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยผู้อำนวยการฯและพยาบาลเวรในวันเกิดเหตุ ชดเชย เยียวยา ต่อความสูญเสียให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายกฤษฎา เป็นเงินให้สมแก่ฐานานุรูปนายสรรเสริญ ไชยโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางมาพบกับผู้ร้องเรียนและรับเรื่องข้อร้องเรียนของชาวบ้านไว้ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาชี้แจงข้อเท็จจริงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและเหตุที่เกิดขึ้น โดยก็จะนำเรื่องนี้นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่เดินทางมา ซึ่งกรณีแบบนี้เป็นเรื่องความสูญเสียก็จะเร่งรัดให้เร็วที่สุดคนเสียชีวิตประเมินไม่ได้ทางเราก็เห็นใจเข้าใจก็จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
ต่อมานายธานินทร์ ไชยานุกูล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางมาพบญาติผู้เสียชีวิตพร้อมกล่าวว่าเบื้องต้นถ้าญาติเดือดร้อนมีสิทธิ์ตามประกันสังคมก็ไปสำนักงานประกันสังคมถ้าเป็นสิทธิ์บัตรทอง ทางสาธารณสุขจังหวัดเรามีการเยียวยาโดยเร่งด่วนโดยใช้ระเบียบของมาตรา 41 เบื้องต้นครอบครัว ที่ได้รับความทุกข์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจและทรัพย์สินส่วนทางด้านจิตใจเบื้องต้นผมเองก็ต้องมาทำความเข้าใจกับครอบครัวมาขอโทษในการบริการที่อาจจะมีข้อติดขัดบางประการและก็จะได้สื่อสารไปกับทางพื้นที่และหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ให้เยียวยาด้านจิตใจไปดูแลครอบครัวคนเสียชีวิตรวมทั้งด้านการเยียวยาในส่วนที่เป็นทรัพย์สินและมีขั้นตอนตามระเบียบ
ภาพ/ข่าว : (วิชิต) วัชรพล มีสวัสดิ์ อุบลราชธานี
