ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ บริเวณลานหน้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมประกาศจุดยืน ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชงจากยาเสพติดให้โทษ เพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ สร้างพลัง การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้ใช้กัญชา กัญชง อย่างรู้คุณ รู้โทษ ใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และถูกต้องตามกฎหมายนายสุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภทที่ 5 ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก ยกเว้น สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งร่างกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ ( พรบ.กัญชา กัญชง ) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ ประชาชนที่จะปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล/ในครัวเรือน รวมทั้งใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องขออนุญาตปลูก แต่อย. ขอความร่วมมือให้จดแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน“ปลูกกัญ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android หรือเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ด้วยตนเอง หรือ หากไม่สะดวก จดแจ้งด้วยตนเอง ท่านสามารถรับบริการ ณ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (OSSC) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับจดแจ้งแทน ทั้งนี้ การสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน“ปลูกกัญ” และเริ่มจดแจ้งได้ตั้งแต่วันนี้ (9 มิ.ย.65) เป็นต้นไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กฎหมายใหม่ โดยแหล่งที่มาของกัญชากัญชง ที่ปลูกต้องมาจาก
1. ผู้ได้รับอนุญาตเดิมร่วมกับหน่วยงานรัฐ
2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการกับกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมาย(ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.65) ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานที่ปลูกกัญชาที่ได้รับอนุญาต จำนวน 20 แห่ง กัญชงจำนวน 17 แห่ง
3. โครงการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น (สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 : สวพ.4)
4. การขออนุญาตนำเข้า (ตามกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมกำกับ ได้แก่ พืชกัญชา กัญชงควบคุมกำกับโดย พรบ. กักพืช พ.ศ. 2507 และเมล็ดกัญชา กัญชง ถูกควบคุมตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518)
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในวันนี้ (9 มิ.ย.65) เป็นมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เป็นตัวแทนในการแสดงจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข คือ ปลดล็อกกัญชา กัญชงเพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ ในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ ขณะนี้โรงพยาบาล ทุกแห่งในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันประชาชนสามารถรับคำปรึกษาได้ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน และในอนาคตมีแผนขยายเวลาเปิดให้บริการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน สำหรับกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ (เชิงพาณิชย์) การนำกัญชามาปรุงประกอบอาหาร สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ ของกรมอนามัย ส่วนแปรรูปกัญชา หรือการนำไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหารเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ อย. หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1. การรวมพลัง ประกาศจุดยืน ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชง จากยาเสพติดให้โทษ เพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ
2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรดอนชาดพืชปลอดภัยอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตปลูกกัญชาตามกฎหมาย มอบต้นกัญชาแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อส่งมอบให้ผู้แทนจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และเพื่อใช้ปลูก ขยายพันธุ์ ในสวนสมุนไพรของโรงพยาบาลต่อไป
3. เปิดตัวแอปพลิเคชัน“ปลูกกัญ”ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดง่ายๆเพื่อจดแจ้งการปลูกกัญชา ด้วยตนเอง และเปิดศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center : OSSC) ซึ่งเป็น จุดบริการที่เจ้าหน้าที่รับจดแจ้งการปลูกกัญชาแก่ประชาชน กรณีที่ไม่สามารถจดแจ้งด้วยตนเอง ทั้งยังเป็น จุดให้บริการรับจดแจ้ง/ขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่นๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในตอนท้ายว่า ควรใช้กัญชาอย่างระวัง โดยเฉพาะ การนำไปใช้ในบุคคลกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี คนไข้จิตเวช สตรีมีครรภ์/ให้นมบุตร ห้ามรับประทาน ที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องประชาชน ได้เฝ้าติดตามข้อกฎหมาย ตลอดจนข้อปฏิบัติที่จะประกาศออกมาภายหลัง วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โทร 091-1644324 ในวันและเวลาราชการ หรือ Scan QR code เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อ “ใช้กัญชา กัญชง อย่างรู้คุณ รู้โทษ ใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และถูกต้องตามกฎหมาย”