ขอนแก่น (ชมคลิป) สวนสัตว์ขอนแก่นสร้างต้นแบบเป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดพยาธิจากสัตว์สู่คน

สวนสัตว์ขอนแก่น เพิ่มความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว พัฒนาเป็นสวนสัตว์ต้นแบบปลอดปรสิต
ลดการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า และป้องกันพยาธิจากสัตว์สู่คน

นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น เปิดเผยว่า ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพ สวนสัตว์ขอนแก่นได้ศึกษาวิจัย จัดทำโครงการเรื่อง การพัฒนาต้นแบบสวนสัตว์ปลอดปรสิต เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า ด้วยระบบการจัดการที่ยั่งยืน และมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้น นำสวนสัตว์ของประเทศไทย ให้เป็นสวนสัตว์ปลอดพยาธิ ซึ่งในการจัดการดูแลด้านสุขภาพสัตว์ของสวนสัตว์ภายใต้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จะเน้นการป้องกันโรคทั้งในระดับรายตัว และทั้งฝูงเป็นประจำทุกปี สำหรับแผนป้องกันโรคประกอบด้วย การกักสัตว์นำเข้า การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การชันสูตรซากสัตว์ รวมทั้งแผนป้องกันสัตว์รบกวน ซึ่งในการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้นนั้น จะมีการตรวจหาพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ อย่างไรก็ตามยังไม่ครอบคลุมปรสิตที่ก่อโรคและที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญได้ทุกชนิด รวมถึงพยาธิบางชนิดสามารถติดระหว่างสัตว์และมนุษย์ได้ (zoonotic parasites) การเกิดโรคปรสิตทั้งจากโปรโตซัว หนอนพยาธิ และโรคติดเชื้อที่มีพยาธิเป็นพาหะนำโรคจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการดำรงชีวิตจนนำไปสู่การเสียชีวิตเกิดการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าได้เช่นเดียวกัน


จากปัญหาดังกล่าว น.สพ.ชวิน ไชยสงคราม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการทำวิจัยเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดต้นแบบสวนสัตว์ปลอดพยาธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดการเพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า โดยศึกษาการติดเชื้อพยาธิภายในและเชื้อพยาธิภายนอก ตลอดไปจนถึงการศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ประสิทธิภาพและสถานการณ์การการดื้อยา และพัฒนาเทคนิคการตรวจที่มีความไวต่อการตรวจหาพยาธิ ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย จำนวน 4 โครงการย่อย ได้แก่
1. โรคติดเชื้อโปรโตซัวของสัตว์วงศ์ Felidae เพื่อการจัดการด้านสุขภาพในสวนสัตว์
2. การติดเชื้อและความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของหนอนพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารของสัตว์ตระกูลไพรเมต
3. ความหลากหลายของเห็บและสถานการณ์ดื้อต่อสารเคมีกำจัดเห็บในเห็บของสัตว์วงศ์ Cervidae
4. สัณฐานวิทยาและอณูวิทยาเพื่อการจำแนกชนิดพยาธิในทางเดินอาหารและประสิทธิภาพของยาถ่ายพยาธิในช้างเอเชีย


น.สพ.ชวิน ไชยสงคราม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า สัตว์ที่มีโอกาสติดพยาธิ จะใช้การสังเกตเบื้องต้น เช่น สัตว์ที่มีลักษณะผอม จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจหาโรคพยาธิ ด้วยการนำมูลสัตว์เข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาพยาธิ และทำการรักษาจากทีมงานสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์เพื่อตัดวงจรพยาธิ และจะต้องได้รับการยืนยันจากผลการตรวจอย่างชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่า เป็นพยาธิชนิดใดและจัดยารักษาให้เหมาะสมกับชนิดของพยาธิ เนื่องจากบางชนิดมีโอกาสติดได้ทั้งคนและสัตว์ การตัดวงจรพยาธิจะทำให้ป้องกันได้ทั้งคนเลี้ยงและสุขภาพของสัตว์ ดังนั้นสัตว์ทุกชนิดจึงมีโอกาสติดพยาธิได้ ซึ่งจะถูกนำพามาจากสิ่งแวดล้อม เช่น หญ้า อาหาร ทั้งนี้ อาหารจำพวกหญ้าจะมีโอกาสนำพาพยาธิมาสู่สัตว์มากที่สุด และสัตว์ที่มีโอกาสสูงที่จะติดพยาธิ คือ สัตว์กินพืช ได้แก่ แรด ช้าง และกวางเนื่องจากสวนสัตว์ขอนแก่นมีกวางมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยการตรวจสุขภาพประจำปีและการถ่ายพยาธิ 2 ครั้งต่อปีหมุนเวียนตามโปรแกรมที่ทางสัตวแพทย์จัดไว้


สำหรับวิธีการรักษาสัตว์หากพบตัวไข่พยาธิจากผลการตรวจสอบห้องปฏิบัติการแล้ว ทีมสัตวแพทย์จะเข้าไปทำการรักษาด้วยการถ่ายพยาธิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิว่าชนิดใดมีการตอบสนองมากกว่ากัน มีทั้งการรักษาแบบให้ยา และการฉีดยารักษา ไม่เพียงเท่านี้ ขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ปลอดพยาธิแล้วจะทำการเก็บมูลสัตว์มาทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง หากยังพบพยาธิอีกก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้ง โดยการให้ยา การเก็บตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันว่าสัตว์นั้นปลอดจากพยาธิแล้ว


สวนสัตว์ขอนแก่นจึงขอเชิญชวนทุกท่านเที่ยวชมสวนสัตว์ด้วยความมั่นใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดพยาธิจากสัตว์สู่คน พร้อมเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น. หากต้องการสอบถามข้อมูลการเที่ยวชมสวนสัตว์สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายรายได้ ธุรกิจและสารสนเทศ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๖-๔๕๙๔๑๙๒ สวนสัตว์ขอนแก่น หรือจะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Social Media www.facebook.com/สวนสัตว์ขอนแก่น และทางเว็บไซต์ของสวนสัตว์ขอนแก่น www.khonkaenzoo.com

คลิป, ท่องเที่ยว

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.