อุดรธานี – กรมศิลป์ฯตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์-อาวุธ-เครื่องประดับ ยุคหินใหม่ 2-3 พันปี

 

ที่บริเวณพื้นที่ส่วนบุคคลขนาด 6 ไร่ อยู่ริมถนนหลวง หมายเลข 2022 หมู่7 บ้านท่าเสียว ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี หรือชาวบ้านเรียกกันว่าดอนจี่ หรือแต่ก่อน เป็นป่าช้าหรือที่ทำพิธีฌาปนกิจศพ นายสกนธ์ กรกฎ นอภ.สร้างคอม , นางสาวกนกวลี สุริยะธรรม ผอ.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง , นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น นายทวี ศรีสร้างคอม กำนัน ต.สร้างคอม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และ นายธนกฤต ศรีวงษ์รัตน์ อายุ 54 ปี เจ้าของที่ดิน พร้อมด้วยชาวบ้าน ร่วมกันตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ , กระดูกสัตว์ , อาวุธ , เครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากหิน เช่นใบขวาน ปลายหอก ปลายธนู กำไลข้อมือ และหม้อดินที่ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบสีแดง คล้ายกับลวดลายหม้อและไหบ้านเชียงที่ขุดค้นพบ ซึ่งต่อมาองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2535


ร่วมกันในการตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณห่างจากริมถนนราว 25 เมตร ที่เจ้าของที่ดินใช้รถแบ็คโฮขุดและปรับพื้นที่ ที่เป็นเนินหรือดอนลงไปราว 2 เมตร พบเป็นโครงกระดูกที่มีขนาดใหญ่กว่าคนในยุคปัจจุบัน เช่นกะโหลกศีรษะ และขนาดความใหญ่ความยาวของชิ้นส่วนกระดูก หรือชาวบ้านเรียกกันว่าโครงกระดูกมนุษย์ 8 ศอก ที่น่าจะมีความสูงมากกว่า 2 เมตร ที่เคยขุดพบที่บ้านเชียง โดยนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ระบุโครงกระดูกและเครื่องใช้และเครื่องประดับ น่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยกลางๆ ของแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ที่เชื่อว่ามีอายุผ่านมาราว 2,300-3,000 ปี หรืออยู่ในช่วงยุคหินใหม่ก่อนประวัติศาสตร์


นางสาวกนกวลี สุริยะธรรม ผอ.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง เปิดเผยว่า หลังจากเจ้าของพื้นที่ได้พบวัตถุโบราณในที่ดินของตนเอง ได้ประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ให้เข้ามาตรวจสอบ สัปดาห์ที่แล้ว นักโบราณคดีได้ลงมาตรวจสอบแล้ว 1 ครั้ง โบราณวัตถุที่พบเป็นเศษกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เครื่องมือหิน เครื่องประดับหิน เบื้องต้นประสานเจ้าของที่ดิน ระงับเรื่องการขุดดินในพื้นที่เพิ่มเติม หากจะใช้ประโยชน์พื้นที่ต้องกลบทั้งหมด และต้องไม่ขุดลงไปเพิ่มเติมอีก


แนวทางในอนาคต ยังมีเนินดินด้านหลังที่ยังไม่ได้ขุดทำลาย ทางจังหวัด อำเภอ หรือท้องถิ่น ต้องทำเรื่องขอการขุดศึกษาพื้นที่ต่อไป พื้นที่นี่เป็นแหล่งศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นแหล่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเขต อ.สร้างคอม ยังไม่เคยได้รับรายงานว่ามีแหล่งขุดค้นที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน น่าจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ได้อีกแหล่งหนึ่ง ส่วนภาชนะโบราณที่พบ มีร่องรอยการเขียนสี มีการใช้เทคนิคทาบเชือก ลวดลายจะร่วมกับยุคบ้านเชียงสมัยกลาง ประมาณ 2,300 ปี เป็นอย่างต่ำ หรืออยู่ในยุคหินใหม่ ถ้าจะให้ชัดเจนจริงๆ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม หากวัตถุร่วมสมัยมันหนาแน่น จะศึกษาเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า คนที่นี่เข้ามาใช้พื้นที่เมื่อกี่พันปีมาแล้ว รวมถึงเมื่อมีการศึกษาโครงกระดูก เราก็จะได้รู้ว่าคนที่นี่ อพยพมาหรือว่ามีถิ่นฐานมาจากไหน ทำอาชีพ กินอยู่อย่างไร สามารถศึกษาได้อีกในระยะยาว พื้นที่นี้เปรียบเทียบแล้วเป็นลักษณะเนินสูงเหมือนที่อื่น แสดงว่ามีกิจกรรมมาค่อนข้างยาวนาน เรายังไม่รู้ว่าชั้นลึกสุดในการใช้พื้นที่มีแค่ไหน ต้องขุดและศึกษาอย่างเป็นระบบ และต้องขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับงบสนับสนุนมามากแค่ไหน ”
นายสกนธ์ กรกฎ นอภ.สร้างคอม เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รายงานจังหวัดด้วยวาจาแล้ว และส่งรายละเอียดทั้งหมดไปเพิ่มเติมอีกครั้ง ยังมีพื้นที่ที่เนินอยู่ด้านหลังอีก ซักครู่ได้หารือกับทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรแล้วว่าจะขุดค้นเพิ่ม โดยอาจจะให้งบประมาณของท้องถิ่น หรือจากทางกรมศิลปากรเองเข้ามาให้การสนับสนุน แต่ว่าพื้นที่ตรงนี้เราไม่สามารถขุดหรือดำเนินการอะไรเพิ่มเติมได้อีก เพราะถ้าขุดไปอีกจะได้รับความเสียหาย ผู้เชี่ยวชาญแนะนำแล้วว่า พื้นที่เนินด้านหลังหากมีการขุดค้นเพิ่ม น่าจะเพิ่มชิ้นส่วนที่สมบูรณ์มากกว่านี้ และหากโชคดีมีการขุดพบมากกว่านี้ อาจจะเป็นโอกาสที่ดีของชาว อ.สร้างคอม ที่จะได้พัฒนาเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวในอนาคต เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีอายุใกล้เคียงกับบ้านเชียง
นายธนกฤต ศรีวงษ์รัตน์ เจ้าของที่ เปิดเผยว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ซื้อที่ผืนนี้ต่อจากชาวบ้าน เป็นโฉนด น.ส.3 ขนาด 6 ไร่ หน้ากว้าง 40 ม. ตั้งใจว่าจะเปิดเป็นปั๊มน้ำมัน อู่ซ่อมรถ และที่อยู่อาศัย และได้ขอบ้านเลขที่ 96 ม.7 บ.ท่าเสียว ต.สร้างคอม ก่อนทำการปรับพื้นที่ที่เป็นเนินสูง เพื่อให้เสมอกับถนนด้านหน้า โดยใช้รถแบ็คโฮและรถไถเข้าปรับพื้นที่ในวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ตอนแรกพบเศษเครื่องใช้หิน เครื่องประดับหิน พิจารณาแล้วว่าน่าจะเป็นของโบราณ จึงนำไปปรึกษาพ่อและพระที่วัดในหมู่บ้าน ชิ้นส่วนหินที่พบคนโบราณเรียกว่า “ขวานฟ้าผ่า” ลักษณะคล้ายอาวุธโบราณ ก่อนตัดสินใจแจ้งไปยังกรมศิลปากรให้เข้ามาตรวจสอบแล้วครั้งหนึ่ง กระทั่งมีการขุดพื้นที่เพิ่มเพื่อก่อสร้างโรงเรือนอีก 3 จุด ก็พบโครงกระดูกมนุษย์เพิ่มอีกจึงแจ้งให้มาตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้


หลังจากพบวัตถุโบราณตนได้นำกำไลหินไปให้พ่ออธิฐานว่ามันคืออะไร พ่อเลยบอกว่าเมื่อคืนได้ฝันว่ามาทำนาอยู่บริเวณนี้ และมีคนโบราณมาช่วยทำนาเยอะมากจนทำนาเสร็จ แถวนี้ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกว่าดอกจี่ มีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่เผาศพ หรือประกอบพิธีกรรม สมัยรุ่นปู่รุ่นพ่อพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าทึบ ยังไม่มีการพบเห็นอะไร มีการปรับพื้นที่แพ้วถางเมื่อตอนปี 2536 ตอนแรกที่ขุดพบวัตถุโบราณและโครงกระดูก รู้สึกประหลาดใจว่ามันมีอะไรอยู่ที่นี่ และโครงกระดูกไม่เหมือนคนสมัยนี้ ตอนแรกที่เห็นโครงกระดูกมันใหญ่มาก จนคิดว่าไม่ใช่กระดูกคน หากพื้นที่นี้เป็นแหล่งโบราณคดีจริง ก็จะยอมยกพื้นที่ให้ขุดค้น เพื่อจะได้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ให้กับลูกหลานในอนาคตต่อไป ”