นายสมบัติ ทิดชิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสงภา และ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลแสงภากล่าวว่า ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ มีการแห่ตั้งแต่ก่อสร้างวัดแล้วเสร็จจนถึงปัจจุบันกว่า 400 ปี แล้ว บ้านเชียงภาหรือบ้านแสงภา ตั้งขึ้นเมื่อใด ไม่มีใครทราบแน่นอน สันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2030 ประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว เล่ากันว่ามีพรานป่า คนหนึ่งตามฝูงช้างมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหวังล่าเอางาติดตามฝูงช้างมาเป็นแรมเดือนและตามทันฝูงช้างที่โป่งโซ แต่ยังไม่ทันยิงช้าง ช้างได้แตกหนีไปเสียก่อน โป่งไซ อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 6 ถนนสายนาแห้ว – แสงภา จากนั้นพรานได้ตามฝูงช้างถึงนาห้าง(ร้าง)เป็นเวลาค่ำพอดี พรานได้ทำห้าง (แคร่ไม้) นอนบนต้นไม้สูงเพราะสัตว์ร้ายชุกชุมในที่แห่งนี้ พอรุ่งเช้าก็ติดตามฝูงช้างต่อไปจนถึงทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลำน้ำ 2 สายมาบรรจบกัน คือลำน้ำภา และลำน้ำแพร่ ปัจจุบันคือ บ้านแสงภาเมื่อพรานล้มช้างได้แล้วและได้เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่าตนเองได้ติดตามฝูงช้างไปไกลมากแล้วได้พบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นทุ่งกว้าง มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ นายภา หรือเซียงภา ทราบข่าว จึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง มาตั้งถิ่นฐาน ตามคำบอกเล่าของนายพราน เซียงภาได้ตั้งถิ่นฐาน ประมาณ 7 ปี สมาชิกหมู่บ้านก็เพิ่มมากขึ้น จึงได้สร้างโบสถ์ วัดศรีโพธ์ชัยขึ้น เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างเสร็จราว พ.ศ. 2123 มีอายุถึงปัจจุบัน 442 ปี
ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลแสงภากล่าวอีกว่า ชาวบ้านเกิดความเชื่อว่า การนำดอกไม้มาบูชาพระที่ชาวไทยถือว่าวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือว่าเป็นสิ่งอันมงคล ด้วยการเก็บดอกไม้ที่สด ดอกสวยงามที่สุด เป็นดอก เป็นช่อ และพัฒนาเป็นพานพุ่ม พานบายศรี ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ จนพัฒนาไปถึงการทำโครงด้วยไม้เรียกว่าต้นดอกไม้ ขนาดเล็กถือคนเดียว ขนาดกลางใช้คนหาม 4 คน และขนาดใหญ่ใช้คนหาม 6-10 คน โดยชาวบ้านมีความเชื่อและถือเป็นสิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ขอให้อยู่ดีมีสุข ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็น ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงขยายคอกออกผลสมบูรณ์ ประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ มีการแห่ทุกปี เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูป เริ่มวันที่ 13 เมษายน โดยหลักปฏิบัติจะเริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ 13-16 เม.ย. ติดต่อกันและจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระ ตลอดเดือนเมษายนของทุกปี การแห่ต้องแห่ตอนกลางคืนราว 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถเท่านั้น และต้องแห่ให้ครบ 3 รอบ รอบที่ 1 บูชาพระพุทธ รอบที่ 2 บูชาพระธรรม รอบที่ 3 บูชาพระสงฆ์ เมื่อแห่ครบทั้ง 3 รอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้านำต้นดอกไม้ออกจากวัด ถ้าต้นไหนยังแข็งแรงไม่เสียรูปทรง สามารถนำมาเปลี่ยนดอกไม้ใหม่ เพื่อนำไปแห่ในคืนต่อไป สำหรับนักท่องเที่ยว ที่พลาดวันที่ 14 เมษายน สามารถชมได้อีกวันที่ 19 เมษายน ตรงกับวันพระขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ,วันที่ 27 เมษายน วันพระแรม 7 ค่ำ เดือน 5 และแห่ต้นดอกไม้วันสุดท้าย ในวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันพระแรม 15 เดือน 5 นักท่องเที่ยวสนใจ สามารถติดต่อสอบถาม องค์การบริหารส่วนตำบลแสงภา
โทรศัพท์ 0-4203-1428,โทรสาร 0-4203-1683 : [email protected] ,งานสารบรรณ[email protected]
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ จ.เลย