ร้อยเอ็ด – รมช.ศธ.นิเทศผลงานวิทยาศาสตร์ พลังสิบ ภาคอีสาน

 

วันที่ 8 เมษายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “การขับเคลื่อนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ” โดยมีนายภูสิต สมจิต ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ดร.ไพฑูรย์ มนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ในนามโรงเรียนแม่ข่ายและโรงเรียนศูนย์ในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นายเพิ่ม นาก้อนทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนโพนทองพัฒนาวิทยา พร้อมคณะครูและนักเรียนโพนทองพัฒนาวิทยา โดยสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมคณะครูและนักเรียนโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม และโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าร่วม ณ หอประชุมหนามคอม โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ตำบลขวัญเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะ 10 ปี เพื่อพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาครู สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการ ให้กับโรงเรียน ในโครงการเพื่อให้นักเรียนทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เน้นการปฏิบัติจริงเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน มีโอกาสฝึกฝน และพัฒนาทักษะเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบที่เน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการในทุกมิติทั้งด้านหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาครู ผู้บริหาร นักเรียนและการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับโรงเรียนในโครงการ


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมด้วยการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งกำหนดลงพื้นที่โรงเรียนในเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบในจังหวัดร้อยเอ็ด และเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นำไปสู่การเตรียมความพร้อม และวางแผนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ต่อไป

ทางด้าน นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้ขับเคลื่อนและส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่ง ในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้รู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งทางด้านหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีโดยการปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน มีโอกาสใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการทดลองและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย มีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาของสังคมโลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนั้น นอกจากทักษะทางด้านการสื่อสารที่สำคัญแล้ว ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นการสร้างรากฐาน พื้นฐานของเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย ให้มีความรู้พื้นฐาน จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง