วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ ผุดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT เสริมเขี้ยวเล็บบุคคลากรทางการศึกษา
เมื่อเร็วๆนี้ ที่วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายลิขิต พลเหลา ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 เป็นประธานเปิดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT โดยมี นายสุระภี ผกาพันธ์ รักษาการ ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายบัณฑิต อมรสิน ผู้แทนสมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม นายธนกร เตชะแก้ว ที่ปรึกษาการตลาด บริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด นำคณะครู อาจารย์ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะจากสถานศึกษาต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 35 คน ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
นายลิขิต กล่าวว่า ตามที่สมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม ได้ร่วมกับ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ และบริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาครูที่ทำการสอนสาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้มีความรู้ และทักษะทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูง ได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และเพื่อสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในด้านการพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษายุคใหม่ และปรับวิสัยทัศน์ในการทำงาน
รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนาคุณภาพแหล่งเรียนรู้อาชีวศึกษา การสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาการเรียนการสอนระหว่างภาครัฐกับเอกชน และเป็นการประชาสัมพันธ์วิธีการเรียนการสอนสาขาวิชางานเชื่อมโลหะให้สถานประกอบการและประชาชนได้รับทราบมากยิ่งขึ้น ซึ่งการการจัดอบรมสัมมนาดังกล่าว กำหนดจัดขึ้น จำนวน 3 ครั้ง 3 รุ่น โดยครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นที่ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ ครั้งที่ 2 ในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี้ จะจัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม และครั้งที่ 3 ในช่วงเดือน พ.ค. นี้ จะจัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
ซึ่งได้รับการสนับสนุนคณะวิทยากรและเครื่องมืออุปกรณ์การจัดอบรมสัมมนา จากบริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมให้แก่ครูผู้สอนสาขาวิชางานเชื่อมโลหะ เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม ของสถานศึกษาต่างๆให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงของภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการช่างเทคนิคหุ่นยนต์เชื่อมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อให้ครู-อาจารย์ที่ผ่านการอบรมหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมได้นำความรู้และทักษะไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อพัฒนาครู-อาจารย์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้มีความรู้และประสบการณ์ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความต้องการภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0 ต่อไป.
พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ // รายงาน