วันที่ 22 มกราคม 2565 เวลา 15.30 น. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดนครพนม มอบเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpk Skin Disesae) และชี้แจงโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ หอประชุมมรุกขนคร โรงเรียนนครพนมพิทยาคม โดยมีนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาจังหวัดนครพนม มีผู้เลี้ยงโค – กระบือ รวมทั้งสิ้น 42,788 ราย แบ่งเป็นโคเนื้อ 144,859 ตัว กระบือ 75,814 ตัว และในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ได้มีการพบโคเนื้อป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน ครั้งแรกที่ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จากนั้นก็พบการระบาดในอำเภอต่าง ๆ ครบทั้ง 12 อำเภอ และสถานการณ์โรคได้คลี่คลายลงในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งตลอดระยะเวลามีโค-กระบือป่วยรวมทั้งสิ้น 8,571 ตัว และตาย 709 ตัว ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 3,975 ราย โดยทางหน่วยงานราชการได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 เพื่อช่วยเหลือเยียวยารวม 625 ราย เป็นโค – กระบือ 677 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 15,785,000 บาท และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจึงได้มีพิธีมอบในวันนี้ โดยเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร เป็นความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรเพื่อทำให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหาภัยเเล้ง น้ำท่วม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและโรคต่าง ๆ โดยโครงการดังกล่าวจะนำร่องจากกรมปศุสัตว์และขยายไปยังกรมอื่นๆ ต่อไป เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกษตรกรทุกคนมีความกินดี อยู่ดี อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมปศุสัตว์จะมีการอบรมถ่ายทอดให้ความรู้ ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการบริหารจัดการเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป และด้านอื่น ๆ รวมถึงการหาช่องทางตลาดให้เกษตรกร ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนวงเงินที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ทั้งเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เดิม และเกษตรกรรายใหม่ โดยสามารถยื่นกู้ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา เกษตรกร 1 ราย สามารถกู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เพียงมีคนค้ำ 2 คน สามารถยืมได้ 3 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล นครพนม