เลย – สทนช. เปิดเวที เสวนา ถกปัญหาเขื่อนสานะคาม สปป.ลาวกระทบ 8 จังหวัดฝั่งไทย


ที่หอประประชุม ร.ร.เชียงคาน เขตเทศบาลตำบลเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยร่วมวงเสวนาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดเสวนา “ล้อมวงคนริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” เผยแพร่ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการฯ โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและพื้นที่ เช่น กรมประมง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานประมงจังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงคาน ฯลฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาชน ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดเลย อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมประมาณ 150 คน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) จัดเวทีเสวนา “ล้อมวงคนริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” เพื่อเป็นการให้ข้อมูลโครงการ และการดำเนินงานของ สทนช. กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ต่อสาธารณชน รวมทั้งเพื่อนำเสนอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศต่อร่างรายงานการทบทวนข้อมูลเทคนิค (TRR) ของโครงการฯ พร้อมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและพื้นที่ เช่น กรมประมง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานประมงจังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงคาน ฯลฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาชน ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดเลย อาสาสมัครพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมประมาณ 150 คน
ทั้งนี้ แม้ว่ากระบวนการ PNPCA ชองโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ วันที่ 9 กันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม จากการที่คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) ได้มอบหมายนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลโครงการ พบว่า รายละเอียดข้อมูลโครงการ ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และผลกระทบ ยังไม่ เพียงพอที่จะนำไปแจ้งต่อประชาชนผู้ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากโครงการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงยังไม่มีการจัดเวทีให้ข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงตามแผนดำเนินการ (Roadmap) จนกว่าจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลให้เพียงพอ เหมาะสม และแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยได้ โดยประเทศไทยได้แจ้งไปยัง MRCS ถึงข้อสังเกตดังกล่าว เพื่อให้รับทราบและนำไปปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (JC) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้เน้นย้ำถึงหน้าที่ของ MRCS ในการสนับสนุนข้อมูลด้านเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก ดังนั้น ทาง MRCS จึงได้จัดทำรายงานการประเมินอย่างรวดเร็ว (Rapid Assessment) เกี่ยวกับผลกระทบด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ด้านการเคลื่อนย้ายตะกอนและธรณีสัณฐานวิทยา ด้านระบบนิเวศและการประมง ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นรายงานจากการศึกษาในช่วงระหว่างปลายเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2564 รวมระยะเวลา 2 เดือน พร้อมได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้แก่ประเทศสมาชิก และผนวกรายงานฉบับดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน TRR รวมถึงเสนอให้คณะทำงานด้านเทคนิคคณะกรรมการร่วม (JCWG) พิจารณาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยประเทศไทยยังคงยืนยันว่า Rapid Assessment ยังไม่แสดงผลกระทบข้ามพรมแดนด้านท้ายน้ำที่ชัดเจน และเรียกร้องว่ากระบวนการ PNPCA ยังไม่สามารถจบตามร่างกำหนดการในวันที่ 19 มกราคม 2565 ตามที่ MRCS เสนอได้ นอกจากนี้ เพื่อแสดงถึงจุดยืนของประเทศไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการรวบรัดให้กระบวนการ PNPCA จบในวันที่ 19 มกราคม 2565 ประเทศไทยจึงได้ปฏิเสธการเข้าร่วมพิจารณาร่างถ้อยแถลง ร่างแผนปฏิบัติการร่วม และร่างวาระการประชุมของคณะกรรมการร่วมนัดพิเศษ (Special Session JC) ตามที่บรรจุไว้ในวาระการประชุมอีกด้วย
“เนื่องจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับพรมแดนลาว-ไทย สทนช. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจนอันอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงการฯ ดังนั้น จากข้อจำกัดด้านความชัดเจนของข้อมูลที่ยังคงมีไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ตามกระบวนการ PNPCA ได้ แต่เนื่องจาก สทนช. ตระหนักถึงความจำเป็นในการถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลโครงการและการดำเนินงานของ สทนช. ต่อกรณีดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังจะมีการสรุปข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศต่อร่างรายงาน TRR ตามที่ MRCS ได้เสนอ รวมทั้งยังใช้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อสะท้อนความต้องการและสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป”
ดร.สุรสีห์ กล่าว กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ว่าผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามระบุว่าจะไม่มีการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังสูงในระยะเวลาอันสั้นซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการไหลอย่างรวดเร็วเนื่องจากการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังสูงในระยะเวลาอันสั้นของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำด้านเหนือน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบผ่านมายังโครงการเขื่อนสานะคาม ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการจึงควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้โครงการเขื่อนสานะคาม เพื่อป้องกันผลกระทบจากโครงการฯ บริเวณเหนือน้ำด้วย โดย สทนช. จะมีการติดตามการดำเนินงานในทุกกระบวนการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนริมโขงของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ 10 องค์ ประกอบด้วย กลุ่มรักษ์เชียงของ,มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน,กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง,มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย),ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,กลุ่มฮักเชียงคาน,เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน,กลุ่มฮักน้ำเลย,สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม,เครือข่ายชุมชนคนฮักน้อง จ.อุบลราชธานี จี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ต้องแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขงของประเทศไทยนับล้านคน เพราะผลกระทบจากเขื่อนสานะคามจะส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคมที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างไทยและลาวในแม่น้ำโขง ไม่ใช่เพียงการจัดเวทีให้ข้อมูลเพื่อรอให้ครบตามกำหนดเวลา โดยไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ระเบียบ กฎหมายใด ๆ ของประเทศไทย เช่นเดียวกับเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ที่กระบวนการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว โดยกรณีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ในประเทศไทย
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์/ จ.เลย